การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อวัน ภายใน 100 วันแรก หนึ่งในนโยบายหลักในการหาเสียงของ พรรคก้าวไกล พรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ได้สร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการภาคเอกชนอย่างมาก เพราะเป็นการปรับขึ้นจากค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบัน 328 -354 บาทต่อวัน ถึง 30% จนทำให้เกิดการกระชากต้นทุนการผลิตอย่างรุนแรง
ภาคเอกชนที่เป็นนายจ้างเห็นตรงกันว่า นโยบายปรับขึ้นค่าแรงของไทยในขณะนี้ควรนำนโยบายการจ่าย "ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ" (Pay by Skill) ที่ปัจจุบันมีค่าจ้างสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำมาใช้จะเหมาะสมมากกว่า เพราะเป็นค่าจ้างที่วัดจากระดับฝีมือ ความรู้ความสามารถของแรงงาน นายจ้างสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ ลูกจ้างก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข
ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ คืออะไร?
อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ หมายถึง อัตราค่าจ้างที่คณะกรรมการค่าจ้างกำหนดขึ้นในแต่ละสาขาอาชีพ ในแต่ละสาขา และในแต่ละระดับตามมาตรฐานฝีมือ โดยมีข้อกำหนดทางวิชาการที่ใช้เป็นเกณฑ์วัดระดับฝีมือ ความรู้ความสามารถ และทัศนคติในการทำงานของผู้ประกอบอาชีพในสาขาต่าง รวม 17 สาขา
การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายละ 5 คน
การพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมืออยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค และรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ผลการพิจารณาจะนำไปสู่ข้อยุติที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกฝ่าย เพื่อให้นายจ้างสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ลูกจ้างสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข ซึ่งเมื่อศึกษาและพิจารณาข้อมูลตามหลักเกณฑ์จะเห็นได้ว่า แต่ละสาขาอาชีพมีมาตรฐานฝีมือที่แตกต่างกัน
ดังนั้น จึงเป็นการเหมาะสมที่จะกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือที่แตกต่างกันตามมาตรฐานฝีมือในแต่ละสาขาอาชีพ ในแต่ละสาขา และในแต่ละระดับนั้น ๆ อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ จะคุ้มครองลูกจ้างที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในแต่ละสาขาอาชีพและแต่ละระดับ ให้ได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมและเป็นธรรม
ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ มีประโยชน์ยังไง
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สรุปการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ มีเป้าหมายเพื่อให้แรงงานกึ่งฝีมือ และแรงงานฝีมือได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม จูงใจให้แรงงานพัฒนาฝีมือให้เป็นที่ยอมรับ เพิ่มหลักประกันรายได้รวมทั้งเพิ่ม ความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจ
อีกทั้งยังเป็นแนวทางที่จะสนับสนุนแรงงานได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้นตามระดับทักษะ ทำให้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน จึงมีนัยที่แตกต่างกับค่าจ้างขั้นต่ำ ใกล้เคียงกับค่าจ้างเฉลี่ยของแรงานที่จบการศึกษาระดับมัธยมปลาย อาชีวศึกษา และวิชาชีพชั้นสูง ที่มีค่าจ้าง เฉลี่ยอยู่ที่ 12,228 บาทต่อเดือน 14,396 บาทต่อเดือน และ 15,624 บาทต่อเดือนตามลำดับ
สศช.เห็นว่าการกำหนดให้ค่าจ้างตามทักษะ จะเป็นกลไกสนับสนุนการพัฒนาทักษะของแรงงาน และช่วยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น การสนับสนุนให้แรงงานได้รับการฝึกอบรมและทดสอบเพื่อ เพิ่มระดับทักษะในบางสาขา โดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือเพื่อให้แรงงานได้รับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นตามระดับทักษะที่สูงขึ้น
โดยทักษะที่ใช้ในการพัฒนาจะต้องมีความเฉพาะ สอดคล้อง และเป็นประโยชน์ต่อประสิทธิภาพการทำงานของแรงงาน รวมทั้งบูรณาการหลักสูตรการฝึกอบรม และทดสอบสมรรถะแรงงานของแต่ละหน่วยงานที่มีการรับรองมาตรฐานทักษะแรงงานให้มีความเชื่อมโยงกับอัตราค่าจ้าง
เช่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และองค์กรภาคเอกชน อีกทั้งจะต้องเร่งส่งเสริมให้แรงงานให้ความสำคัญกับการทดสอบฝีมือแรงงาน เพื่อให้ได้การปรับเพิ่มค่าจ้างที่เหมาะสม ซึ่งภาครัฐอาจต้องกระจายบทบาทการทดสอบไปสู่ภาคีเครือข่ายหรือภาคเอกชนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การจัดสอบมีความเพียงพอและการสนับสนุนค่าทดสอบให้มีราคาที่ไม่สูงเกินไป รวมถึงการกวดขันสถานประกอบการให้จ่ายค่าจ้างอย่างถูกต้อง
อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 2566
ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 12) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป มีอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ โดยสรุปดังนี้