เบื้องหลัง “พิธา” หารือสภาอุตฯ ค้านค่าแรง450 กระชากต้นทุน

26 พ.ค. 2566 | 03:12 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ค. 2566 | 03:19 น.

เปิดเบื้องหลัง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หารือสภาอุตสาหกรรม นักธุรกิจชำแหละ นโยบายก้าวไกลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท กระชากต้นทุน 30% กระทบ 45 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น สุดท้ายอาจต้องปิดกิจการหรือเลิกจ้าง

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2566 นายพิธา  ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้นำคณะเข้าพบ และหารือกับผู้บริหาร ส.อ.ท. ซึ่งนายพิธาได้มาพูดถึงแนวนโยบายของพรรค และมาฟังนโยบายของ ส.อ.ท.

หนึ่งในประเด็นสำคัญคือ ส.อ.ท.มีความเป็นห่วงเรื่องค่าแรง 450 บาท ซึ่งจะขึ้นจากเดิมทีเดียว 30% ทำให้เกิดการกระชากแรงต่อต้นทุนการผลิต ซึ่งจะส่งผลให้กลุ่มอุตสาหกรรมกว่าครึ่งหนึ่งที่เป็นสมาชิกของ ส.อ.ท.ที่มีอยู่ 45 กลุ่ม ที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น รวมถึงเอสเอ็มอีในภาคการผลิต ภาคบริการ และท่องเที่ยวจะไปไม่ไหวจากแบกรับภาระไม่ไหว ท้ายสุดอาจต้องปิดกิจการหรือเลิกจ้าง

เกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

ดังนั้นการที่จะยกระดับรายได้ขั้นต่ำขึ้นมา ต้องพิจารณาให้รอบด้าน ไม่ใช่ขึ้นค่าแรงแล้วฝั่งหนึ่งได้ประโยชน์ แต่อีกฝั่งต้องแบกรับภาระหนัก จากเวลานี้ผู้ประกอบการในภาพรวมแบกรับภาระหนักอยู่แล้วในเรื่องของต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อมาเจอกับค่าแรงที่จะขึ้นทีเดียวแบบกระชากแรงเอสเอ็มอีไปไม่ไหวแน่นอน

 “ใน 450 บาทยังมีตัวเลขแฝงอยู่อีกมากที่ผู้ประกอบการจะต้องแบกและต้องนับออกมาเป็นต้นทุนเช่นกัน เช่น ลาคลอดได้ 90 วัน ให้ขยายเป็น 180 วัน หากผู้ประกอบการมีแรงงาน 5 คน หายไป 1 คน เท่ากับหายไป 20% จากเดิมเคยจ่ายอยู่ 3 เดือน กลายเป็น 6 เดือนนายจ้างก็ลำบาก และเกิดเขามีลูกหัวปีท้ายปี ปีหนึ่งก็เท่ากับทำงานแค่ 3 เดือนทั้งหมดเป็นต้นทุนแฝงที่ไม่ได้อยู่ใน 450 บาทอันนี้ยกตัวอย่าง”

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า หากจะขึ้นค่าแรงจริงจะต้องมีมาตรการช่วยเอสเอ็มอีที่ชัดเจน ไม่ใช่มีเพียงแค่มาตรการด้านภาษี เช่น การลดภาษีให้ธุรกิจเอสเอ็มอี การให้ธุรกิจหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า นาน 2 ปี  แต่ต้องมีเม็ดเงินให้ภาคธุรกิจไปต่อได้ เพราะภาษีเป็นการเสีย หรือมาลดหย่อนได้ตอนที่มีรายได้แล้ว แต่ตอนนี้ต้องพูดธุรกิจจะไปต่ออย่างไรถ้ามีต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก เพราะอาจจะล้มตั้งแต่แรก

 “คุณพิธาบอกว่า ถ้าตอบในนามพรรคก้าวไกลพรรคเดียวก็ยังยืนยันที่ 450 บาท แต่เนื่องจากเขามารับฟังพวกเรา และจะไปรับฟังสภาองค์กรนายจ้างฯ สภาลูกจ้าง สมาพันธ์เอสเอ็มอีที่เขานัดไว้แล้ว รวมถึงหอการค้าไทย เขาก็จะเดินสายหารือจนครบ แต่เนื่องจากมีพรรคร่วมรัฐบาลเขาก็ต้องปรึกษาพรรคอื่นด้วยหลังจากที่ได้ข้อมูลครบทุกฝ่ายแล้ว เพราะบางอย่างอาจจะยังทำไม่ได้ ซึ่งคงจะคล้าย  ๆ กับ MOU 23 ข้อที่เป็นวาระร่วม 8 พรรคที่ตอนแรกหลายพรรคก็กลัวมีประเด็นอ่อนไหวเรื่องหนึ่ง ที่หากมีข้อนั้นเขาก็จะไม่เซ็นกัน ซึ่งทุกคนก็ห่วงท้ายสุดก็ไม่มีหลังมีการพูดคุยและตกลงกัน”

โดยสรุปประธาน ส.อ.ท.ระบุว่า ภาคธุรกิจเอกชนยังมีความกังวลในประเด็นขึ้นค่าแรง  ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานไทยจำนวนมากอยู่ในระบบค่าจ้างขั้นต่ำ รวมถึงแรงงานต่างด้าวอีกกว่า 3 ล้านคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่นอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร แปรรูปอาหาร แปรรูปอาหารทะเลในแถบสมุทรสาคร

 “ข้อเสนอของส.อ.ท. เรายินดีจ่ายค่าแรงตามทักษะฝีมือ (pay by skill)  ไม่ต้องมาพูดขั้นต่ำ ถ้าคุณมีสกิลดีอาจจะจ่าย 600  700  800  บาทได้ทั้งนั้น ขึ้นกับชิ้นงานที่มีมูลค่าและใช้ทักษะพิเศษ ซึ่งต้องมีการพัฒนาที่ต้องใช้เวลา แต่ตอนนี้ก้าวไกลกับเพื่อไทยเขาต้องการช่วยทันที แต่การช่วยทันทีและกระชากแรงเราก็กลัวว่าผลที่จะตามมาอาจจะไม่คุ้ม ต้องดูให้รอบด้าน ซึ่งหากขึ้นก็ต้องมีออฟฟชั่นช่วยทั้งสองฝั่ง อย่างเอสเอ็มอีเขาต้องการเงิน ต้องการที่จะไปต่อ แต่จะเพิ่มภาระเขา อีกวิธีหนึ่งที่เราแนะนำเขาคือ ปัจจุบันต้นทุนค่าไฟก็สูง สินค้าขึ้นราคา ดังนั้นคุณอาจจะไม่ขึ้นมาก(ค่าแรง) แต่ให้ไปช่วยลดภาระรายจ่ายเขาแทน โดยไปลดทุกอย่างที่เป็นรายจ่ายให้ต่ำที่สุด ไม่จำเป็นต้องขึ้นถึง 450 บาท ก็ได้” นายเกรียงไกร กล่าว