ก่อนหน้านี้เว็บไซต์ลงทุนแมนและบิลเลียนมันนี่ได้สัมภาษณ์พิเศษ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ที่เสนอตัวเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการจัดตั้งรัฐบาล
ในการสัมภาษณ์มีประเด็นที่น่าสนใจที่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวถึง คือ ประเด็นการเก็บภาษี Capital Gain Tax ,Wealth tax เกิน 300 ล้านบาท ส่วนที่เกินตั้งแต่บาทแรกจะเก็บ 0.5% , การทยอยขึ้นภาษีนิติบุคคลจาก 20% เป็น 23% และปรับลดอัตราภาษีบุคคลธรรมดา
"ดร.นณริฏ พิศลยบุตร" นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ให้มุมมองต่อเรื่องนี้ ว่า พรรคก้าวไกลกำลังจะผลักดันประเทศให้ไปในแนวรัฐสวัสดิการมากกว่าเสรีนิยม ซึ่งหมายความว่า ตลาดทุนจะถูกมองว่าเป็นตลาดของผู้ร่ำรวยกลุ่มน้อย ตลาดของทุนผูกขาด มากกว่าตลาดทุนในฐานะทางเลือกของแหล่งออม/แหล่งทุน แบบแนวเสรีนิยม การมองแบบนั้นไม่ผิด แต่สิ่งสำคัญ คือ การเปลี่ยนผ่านและการพิจารณาผลกระทบให้รอบด้าน
"การเปลี่ยนผ่านต้องทำอย่างรอบคอบไม่ให้เกิดผลกระทบที่รุนแรง และต้องพิจารณาด้วยว่าเส้นทางที่เดินไปเหมาะสมหรือไม่ เมื่อดูสิ่งที่ได้มากับสิ่งที่เสียไป (trade-off) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยมากจะกลับมาแก้ไขไม่ได้ หรือแก้ไขได้ยากมาก จึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง"
ในประเด็น ภาษี capital gain tax หากจะใช้ก็ควรจะต้องพิจารณาให้ดีว่าควรจะจัดเก็บกับใคร อัตราเท่าไหร่ ผลกระทบต่อสภาพคล่องเป็นอย่างไร และควรจะมีระยะทดลองแบบ sandbox ก่อนเพื่อดูผลกระทบ
ขณะที่ Wealth tax เป็นประเด็นที่ซับซ้อน และส่งผลกระทบต่อตลาดทุนมาก เพราะเป็นการจัดเก็บกับ "เงิน" ที่ย้ายหนีประเทศได้ง่ายกว่า "ที่ดิน" หรือ "แรงงาน"
"แถม Wealth tax ที่เก็บบนราคาหุ้นยังต้องอ้างอิงจากราคาตลาดซึ่งไม่ใช่ทรัพยสินของเขาที่แท้จริง แต่เป็นราคา ในอนาคตของหุ้น ต่างจากมูลค่าธุรกิจที่ดูที่สินทรัพย์ ซึ่งอาจจะมีผลต่อการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์มากก็เป็นได้"
ในขณะที่ ที่ดินกลับมักจะถูกประเมินให้ "ต่ำ" กว่าราคาซื้อขายจริงกลายเป็นความไม่เป็นธรรมของคนที่ถือทรัพย์สินต่างประเภทกัน
"คนรวยยังมีวิธีการในการเลี่ยงภาษี Wealth tax ที่อาจจะต้องจับตาดูว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง แต่ถ้าตีตัวเลขประมาณการภาษี ก็จะหมายถึง เงิน 12 ล้านล้านบาทที่จะพยายามหนีภาษีในรูปแบบใดรูปแบบหนี่ง เช่น การย้ายประเทศ ก็ต้องรอดูว่าจะเยอะขนาดไหน"
แต่สิ่งที่ขาดหายไป คือ ภาพย่อยที่สำคัญ คือ คนไทยเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับคนที่มีรายได้ การหลบเลี่ยงภาษีเงินได้นิติบุคคลของ SMEs ก็ยังมีอยู่มาก
ภาพใหญ่ที่ขาดหายไป คือ ความเป็นธรรม อยากให้วางกรอบความเหมาะสมโดยดูภาพรวมทั้งระบบว่า รัฐสวัสดิการของส้มจะต้องใช้เงินเท่าไหร่ และมาจากภาษีตลาดหุ้นเท่าไหร่ ภาษี VAT เท่าไหร่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเท่าไหร่
"พรรคก้าวไกลมีตุ๊กตาบางส่วนออกมาแล้ว แต่อยากให้มองถึงระยะยาวด้วยครับ เช่น ถ้าเศรษฐกิจชะลอตัวลงจะเป็นอย่างไรหรือ เงินของผู้สูงอายุในระยะยาวจะต้องใช้ปีละ 7.2 แสนล้าน ไม่ใช่แค่ 4 แสนกว่าล้านในปัจจุบัน ส่วนภาษีนิติบุคคลปรับขึั้นสำหรับรายใหญ่ ก็มีมุมที่ดีในเรื่องการเก็บรายใหญ่มาช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ต้องการให้ธุรกิจรายใหญ่เสียภาษีมากขึ้น สำหรับการลดภาษีบุคคลธรรมดาก็จะช่วยมนุษย์เงินเดือนให้ได้มีส่วนได้รับผลประโยชน์จากนโยบายรัฐสวัสดิการบ้าง ซึ่งดูแบบแยกรายตัวของสองตัวนี้มีมุมมองที่ค่อนข้างดีโอเค"