นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอเกี่ยวกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 2 กลุ่ม คือ แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) และแรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) รวมกว่า 5 แสนคนที่ตอนนี้ประสบปัญหามีสถานะที่ผิดกฎหมาย
กลุ่มแรก : การทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา)
เป็นกลุ่มเข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) ภายใต้บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน ที่เข้ามาทำงานตาม MOU ที่วาระการจ้างงานครบกำหนด 4 ปี ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 - 31 ธันวาคม 2565 และที่ครบกำหนด 4 ปี ระหว่างวันที่ 2 มกราคม 2566 - 31 กรกฎาคม 2566
“ปัจจุบันมีข้อขัดข้องหลายเรื่องทำให้แรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศต้นทางไม่ได้ เช่น เกิดการสู้รบ ความไม่สงบ หรือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา แรงงานต่างด้าวก็ทยอยครบกำหนดตาม MOU แล้ว ทำให้แรงงานต่างด้าวที่อยู่ในไทยกว่า 2 แสนคน ที่มีสถานะที่ผิดกฎหมาย เพราะกลับประเทศเพื่อนบ้านได้และไม่สามารถทำงานได้ และนายจ้างเองก็ยังเดือดร้อนเพราะขาดแคลนแรงงานด้วย”
ด้วยเหตุนี้กระทรวงแรงงานจึงได้เสนอผ่อนผันให้คนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมายอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและทำงานเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 เพราะยังเป็นช่วงรัฐบาลปัจจุบัน ส่วนช่วงต่อไปก็ให้รัฐบาลใหม่พิจารณา โดยใช้หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ใบอนุญาตทำงาน หรือเอกสารตามที่กรมการจัดหางานกำหนดเป็นหลักฐานแสดงการผ่อนผัน
โดยระหว่างการผ่อนผันนี้ ให้นายจ้างรายเดิมหรือรายใหม่ที่ประสงค์ จะจ้างคนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมาย ดำเนินการขออนุญาตนำคนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งได้ผ่อนผันเข้ามาทำงานตาม MOU ควบคู่ไปด้วย
พร้อมกันนี้ยังให้คนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมายที่หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางหมดอายุ หรือการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุด สามารถเดินทางกลับประเทศได้ หรือเมื่อครบกำหนดการผ่อนผันแล้วให้คนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมายเดินทางกลับประเทศต้นทางโดยไม่มีความผิด
กลุ่มที่สอง : การทำงานของของคนต่างด้าว 4 สัญชาติ (ก้มพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม)
ตามมติ ครม.ก่อนหน้านี้ ได้เห็นชอบให้เข้ามาทำงาน แต่ล่าสุดพบปัญหาว่า ไม่สามารถจัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทน หนังสือเดินทาง และการตรวจลงตรา ได้ทันภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ซึ่งกลุ่มนี้มีผู้ที่ตกค้างอยู่มากถึง 3 แสนคน ที่มีสถานะที่ผิดกฎหมาย
ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาจึงการขยายระยะเวลาจัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางและการตรวจลงตรา ของคนต่างด้าว 4 สัญชาติ โดยผ่อนผันให้คนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมายอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและทำงานเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566
โดยให้ใช้ใบรับคำขออนุญาตทำงานฉบับเดิมเป็นหลักฐานการผ่อนผัน และเมื่อได้รับหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางแล้ว ให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตรวจลงตรา และตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 หรือได้ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 แล้วแต่กรณี
นอกจากนี้ที่ประชุมครม.ยังเห็นชอบในหลักการร่างประกาศของกระทรวงแรงงาน 2 ฉบับ และร่างประกาศของกระทรวงมหาดไทย 2 ฉบับ เพื่อบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยต่อไป