เปิดข้อมูล “คนรุ่นใหม่” เลือกงานถูกจริต หวังค่าตอบแทนสูง

22 พ.ค. 2566 | 06:35 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ค. 2566 | 06:39 น.

สศช. เปิดเผยภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 1 ปี 2566 พบประเด็นการทำงานของคนรุ่นใหม่ พฤติกรรมเปลี่ยน ส่วนใหญ่ต้องการงานที่มีค่าตอบแทนสูง สอดคล้องความชอบตัวเอง มีสมดุลชีวิตสามารถเลือกวันทำงานได้

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 1 ปี 2566 โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของคนรุ่นใหม่ พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า พฤติกรรมการเข้าสู่การทำงาน โดยมีผลสำรวจของภาคเอกชน ซึ่งสำรวจผู้ที่มีอายุ 15-25 ปี จำนวน 1.9 หมื่นคน ส่วนใหญ่ต้องการงานที่มีค่าตอบแทนสูง สอดคล้องความชอบตัวเอง และมีสมดุลชีวิตสามารถเลือกวันทำงานได้ 

โดยผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ ปี 2565 พบว่า เยาวชนที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต ให้ความสำคัญกับค่าตอบแทนมากที่สุด รองลงมาเป็นความชอบ และความสมดุลในชีวิต สอดคล้องกับผลสำรวจของ SEEK ที่ร่วมกับ Boston Consulting Group และ The Network พบว่า แรงงานไทยต้องการงานที่มั่นคงและมีสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานที่ดี มีเวลาให้ครอบครัว เพื่อน และงานอดิเรกมากที่สุด

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สถานการณ์การจ้างงานในช่วงต่อไป ผู้ประกอบการต้องพิจารณาและปรับปรุงรูปแบบการจ้างงาน รวมทั้งระบบจ้างงานให้ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป แต่อย่างไรก็ดีการจะดำเนินการดังกล่าวนั้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างรอบคอบและระมัดระวัง เพื่อไม่ให้กระทบคนทำงานกลุ่มเดิม

ขาดแคลนแรงงานด้านดิจิทัลและไอที

อีกปัญหาหนึ่งทางด้านแรงงาน พบว่า ปัจจุบันพบปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านดิจิทัลและไอที จากการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลของภาคธุรกิจและการแพร่ระบาดของโควิด19 ซึ่งเป็นปัจจัยเร่งให้ภาคธุรกิจปรับตัว โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้สอดรับกับวิถีชีวิตและการทำงานรูปแบบ ใหม่มากขึ้น ส่งผลต่อความต้องการแรงงานด้านดิจิทัลและไอที ประมาณ 2 – 3 หมื่นตำแหน่งต่อปี 

แต่ข้อมูลจากระบบเผยแพร่ สารสนเทศอุดมศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พบว่า มีผู้จบการศึกษาใน ด้าน ICT ในปี 2564 เพียง 1.4 หมื่นคน ซึ่ง ManpowerGroup (2566) ระบุว่า สายงานไอทียังคงเป็นสายงาน ที่มีความต้องการสูง และหาบุคลากรได้ยากที่สุด อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

แรงงานเกษตรเจอผลกระทบเอลนีโญ

นอกจากนี้ยังต้องติดตามรายได้และการจ้างงานของแรงงานภาคเกษตรกรรม จะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ หรือภัยแล้ง โดยองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) พยากรณ์ว่าปีนี้ทั่วโลกจะเข้าสู่ภาวะเอลนีโญ ที่ทำให้อุณหภูมิสูงกว่าปกติ มีปริมาณฝนน้อยและฝนทิ้งช่วงนาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตร และรายได้ของเกษตรกร 

ทั้งนี้ผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญในปี 2557 - 2559 ทำให้ ผลผลิตทางการเกษตรของไทยลดลงไปกว่า 10 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 8.4 หมื่นล้านบาท