นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้เป็นสักขีพยานลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงเพื่อขยายความร่วมมือโครงการยกระดับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมยางพารา (CARE) ซึ่งจะเป็นการยกระดับซัพพลายเชนอุตสาหกรรมยางพาราให้สามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ทั้งด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมมากขึ้น และช่วยสนับสนุนให้การส่งออกยางพาราขยายตัวได้ดีขึ้น
โดยความร่วมจากโครงการดังกล่าว สถาบันการเงินของรัฐจะมีการสนับสนุนด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมยางพาราไทย คาดว่าในปี 2566 นี้ จะสามารถสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีกเข้าถึงเงินทุนได้กว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์มีมูลค่ากว่า 680,000 ล้านบาทต่อปี ครอบคลุมผู้เกี่ยวข้องจำนวนกว่า 6 ล้านคน ตั้งแต่ต้นน้ำ ได้แก่ เกษตรกรชาวสวนยาง ครอบคลุมพื้นที่สวนยางกว่า 18 ล้านไร่
นอกจากนี้ โครงการยังมีเป้าหมาย ได้แก่ การยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยาง การผลักดันสินค้าและการบริหารจัดการให้ได้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) การเพิ่มมูลค่าสินค้ายางพาราและมูลค่าการส่งออกของไทย การให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการและการบริหารการเงิน ความรู้ด้านการส่งออก และความรู้อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้แนวโน้มตลาดการส่งออกไปยังประเทศจีน ยุโรป และอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดหลักของการส่งออกไทย มีความแนวโน้มชะลอตัว แต่ไทยก็ยังมีตลาดใหม่ เช่น การส่งออกไปภาคตะวันออกกลาง ซึ่งมีแนวโน้มการขยายตัวได้ดีขึ้น จึงคาดว่าการส่งออกยางพาราในปีนี้จะขยายตัวได้ และหากรวมผลของโครงการแล้ว คาดว่าการส่งออกยางพาราปี 2566 จะขยายตัวได้ 5%
ทั้งนี้ โครงการยกระดับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมยางพารา (CARE) เป็นการร่วมมือระหว่างหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.), การยางแห่งประเทศไทย (กยท.), ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)} บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.), และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง