นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ปัจจุบันสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เตรียมเสนอหลักการเพื่อดำเนินโครงการฯต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่และคณะรัฐมนตรี (ครม.)ชุดใหม่พิจารณา ภายในปีนี้ โดยที่ผ่านมาโครงการฯได้เสนอต่อครม.ชุดเดิมแล้ว แต่ถูกปัดตกก่อน เนื่องจากมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรไปก่อน
หากได้รับการเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคมและครม.แล้วจะดำเนินการจัดทำโรดโชว์ในต่างประเทศเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างชาติ หลังจากนั้นจะดำเนินการเปิดประมูลให้เอกชนมาร่วมลงทุนในรูปแบบ PPPและเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2568 ระยะเวลาก่อสร้างกว่า 2 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2570
ส่วนรายงานการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบของโครงการแลนด์บริดจ์ (feasibility study) ปัจจุบันเนื้อหาสาระในรายงานฯได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ขณะนี้ต้องนำความคิดเห็นจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติในสายการเดินเรือต่างๆที่จะเดินทางไปโรดโชว์มาประกอบร่วมกับรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของโครงการฯ ด้วยกัน เพื่อสรุปรายงานฯ คาดว่ารายงานดังกล่าวจะดำเนินการแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2567 ใช้ระยะเวลาประมาณ 8 เดือน หลังจากนั้นจะเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา
ที่ผ่านมาจากการจัดประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 (Focus Group) ในพื้นที่จังหวัดระนองและจังหวัดชุมพร พบว่าทุกคนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยกับการดำเนินโครงการฯนี้ เพราะมองว่าเป็นโครงการฯที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ
นายปัญญา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้สนข.ได้ศึกษาจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (พ.ร.บ. SEC) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ เนื่องจากโครงการฯ เปิดโอกาสให้นักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนด้วย ทำให้โครงการฯต้องดำเนินการจัดทำพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินการและจูงใจให้นักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุน ปัจจุบันได้ดำเนินการแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างเตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเพิ่มเติมให้สอดรับกับกฎหมาย
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน มีมติให้ที่ปรึกษาได้นำเสนอการคัดเลือกพื้นที่ทางเลือกท่าเรือที่เหมาะสมที่สุดฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง คือ พื้นที่แหลมอ่าวอ่าง
ขณะที่ฝั่งอ่าวไทย จังหวัดชุมพร คือ พื้นที่แหลมริ่ว เนื่องจากพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่ง เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสามารถรองรับปริมาณสินค้า ได้ 20 ล้านทีอียู ตามผลการคาดการณ์ปริมาณสินค้าที่จะเข้ามาที่ยังแลนด์บริดจ์ รวมทั้งยังสามารถขยายท่าเรือในอนาคตให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าได้มากถึง 40 ล้านทีอียู เทียบเท่ากับปริมาณสินค้าที่ท่าเรือสิงคโปร์ในปัจจุบัน และอยู่ใกล้กับร่องน้ำลึก รองรับการเข้าใช้งานของเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่
ทั้งนี้จากผลการศึกษาของ สนข. ประเมินว่าโครงการ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน (แลนด์บริดจ์) จะต้องใช้งบลงทุนราว 500,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการท่าเรือฝั่งระนอง,ท่าเรือฝั่งชุมพร ,ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ระนอง - ชุมพร และโครงการรถไฟทางคู่สายระนอง – ชุมพร
สำหรับแผนพัฒนาท่าเรือน้ำลึกภายใต้โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับอันดามันกระทรวงฯ ต้องการพัฒนารองรับต่อปริมาณการเดินเรือที่เกิดขีดความสามารถบริเวณช่องแคบมะละกา เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวมีปริมาณการเดินทางจำนวนมาก ซึ่งเบื้องต้นตามแผน สนข.จะแบ่งโครงการลงทุนออกเป็น 4 ระยะ โดยคาดปริมาณสินค้าเข้ามาใช้บริการมากกว่า 20 ล้านทีอียู ซึ่งจะเทียบเท่ากับท่าเรือฮ่องกงที่มีตู้สินค้าผ่านท่าเรือมากเป็นอันดับที่ 8 ของโลก