“ภาวะเงินเฟ้อไทย” ได้เห็นตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปประจำเดือนเมษายนเพิ่มขึ้น 2.67% ชะลอตัว 4 เดือนติดต่อกัน แตะระดับต่ำที่สุดในรอบ 16 เดือน ต่ำที่สุดในอาเซียน และต่ำติดอันดับ 14 ของโลก มั่นใจเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมชะลอตัวต่อเนื่อง เหตุฐานปีก่อนสูง ราคาน้ำมันต่ำ ราคาสินค้าและบริการบางรายการชะลอตัว
โดยอัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนมีนาคม 2566) พบว่า เงินเฟ้อไทยต่ำเป็นอันดับที่ 14 จาก 133 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายเขตเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐอเมริกา, อิตาลี, สหราชอาณาจักร, เม็กซิโก, อินเดีย, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และอยู่ในระดับต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ทั้ง สปป.ลาว, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และเวียดนาม
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์เงินเฟ้อ ราคาสินค้า และราคาพืชผลการเกษตร พ ว่า ตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงปัจจุบันเงินเฟ้อมีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ โดยมีแนวโน้มชะลอตัวลง และคาดว่าเดือน พ.ค.2566 เงินเฟ้อจะเป็นบวกแค่ 0.5%
ส่วนตัวเลขทางการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) จะแถลงอีกครั้ง ซึ่งตัวเลขดังกล่าว ถือเป็นทิศทางที่ดี น่าจะต่ำที่สุดในอาเซียน และจะเป็นประเทศที่มีเงินเฟ้อต่ำไม่เกินลำดับที่ 14-15 จาก 130 กว่าประเทศทั่วโลก
ทั้งนี้ เงินเฟ้อที่คาดว่าจะลดลงดังกล่าว สะท้อนผ่านราคาสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะหมวดอาหาร ที่มีผลกระทบโดยตรงกับผู้บริโภคมาก เช่น หมูเนื้อแดง แนวโน้มราคาปรับลดลง ไม่มีสัญญาณสูงขึ้น
ขณะนี้ราคาต่ำกว่าราคาโครงสร้างประมาณ 40 บาท/กิโลกรัม (กก.) หรือ 20 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 145 บาท/กก. ไก่ ราคาต่ำกว่าราคาโครงสร้าง 6-17% ไข่ไก่ เบอร์ 3 แม้จะปรับขึ้นในช่วงนี้ เพราะฤดูร้อนไก่จะออกไข่น้อยและลูกเล็ก แต่ราคาเฉลี่ยยังต่ำกว่าราคาโครงสร้างถึง 16% และราคาผัก ในภาพรวมสัปดาห์นี้ ราคาปรับลดลงจากสัปดาห์ก่อน เพราะฝนเริ่มมา ผักออกมากขึ้น และกรมการค้าภายในช่วยเชื่อมโยงระบายผักออกสู่ตลาด ราคาผักมีแนวโน้มปรับลดลง