40 ชาติกังวล ตั้งรัฐบาลไม่ชัด ผวายื้อยาวขาดเชื่อมั่นลงทุนไทย

03 มิ.ย. 2566 | 00:54 น.
อัปเดตล่าสุด :03 มิ.ย. 2566 | 01:08 น.

บิ๊กเอกชน จี้ตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็ว หวังดึงความเชื่อมั่นนักลงทุน หอการค้า 40 ประเทศ ยังกังวลความไม่ชัดเจน ฉุดขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แนะนโยบายเร่งด่วน แก้ปัญหาปากท้อง เยียวยารากหญ้า หนุนโมเดล BCG ปูพรมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

การเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของ 8 พรรคการเมืองที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำได้รุกคืบไปอย่างเข้มข้น ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล มีการหารือกับผู้นำภาคเอกชนทั้งจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย ถึงแนวทางการทำงานร่วมกัน รวมถึงรับทราบข้อกังวลของภาคธุรกิจเพื่อนำไปปรับแนวนโยบายหากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในการหารือกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และผู้บริหารพรรคฯกับผู้บริหารของหอการค้าไทย (31 พ.ค.2566) ทางหอการค้าฯได้ตอกยํ้าว่าหากได้เป็นรัฐบาล ในระยะสั้นจะต้องเร่งกระตุ้นใน 3 เรื่องสำคัญให้มีความต่อเนื่องได้แก่ 1.การส่งออกที่เวลานี้ชะลอตัว 2.การท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัว และ 3.การสร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติ และนักลงทุนไทยให้ลงทุนไทยต่อเนื่องเพื่อส่งผลให้เศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนไม่เกิดการสะดุด

  • 40 หอต่างชาติห่วงตั้งรัฐบาล

ทั้งนี้ ภาคเอกชนได้เร่งรัดและมุ่งหวัง 8 พรรคจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยโดยเร็วเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งหากการจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อไม่ไปตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ (คาดจะได้รัฐบาลใหม่ประมาณเดือนกันยายน) อาจจะส่งผลต่อการชะลอการลงทุนจากต่างประเทศ และกระทบต่อการจัดทำงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายด้านเศรษฐกิจตามมา

“ในสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยมีหอการค้าต่างชาติประมาณ 40 ประเทศที่อยู่ภายใต้การดูแลของสภาหอฯ รวมถึงยังมีสถานทูตประเทศสำคัญ ๆ ที่ได้พูดคุยกัน มีความกังวลที่สะท้อนจากการตั้งคำถามเช่น รัฐบาลจะจัดตั้งได้เมื่อไร นโยบายของรัฐบาลใหม่ที่จะมาบริหารประเทศจะเป็นอย่างไร ดังนั้น หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วที่สุด และนายกรัฐมนตรีสามารถแถลงนโยบายต่อรัฐสภาได้ จะช่วยให้ทุกอย่างมีความชัดเจนขึ้น”

40 ชาติกังวล ตั้งรัฐบาลไม่ชัด ผวายื้อยาวขาดเชื่อมั่นลงทุนไทย

  • BCG-FTA ใหม่ต้องสานต่อ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอกาค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า รัฐบาลใหม่ควรสานต่อนโยบายเดิม เช่น เศรษฐกิจ BCG การดึงการลงทุนจากต่างประเทศ ผลักดันการท่องเที่ยว การขยายการจัดทำเขตการค้าเสรี(FTA)กับประเทศ/ กลุ่มประเทศใหม่ ๆ เพื่อให้นักลงทุนที่มาผลิตสินค้าส่งออกมีตลาดใหม่ๆ และมีแต้มต่อด้านภาษีช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

“ไม่ควรขึ้นค่าแรงแบบกระชากแรง 450 บาทต่อวันทันที เพราะด้วยเงื่อนไขเศรษฐกิจ และภาวะธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่งฟื้นตัวจากโควิด หากเศรษฐกิจเราดีขึ้น ผลประกอบการของภาคธุรกิจดีขึ้นค่าแรงก็มีโอกาสปรับขึ้นได้ในระยะต่อไป ซึ่งต้องพูดคุยกัน อย่างไรก็ดีไม่ใช่มีเรื่องค่าแรงอย่างเดียวที่นักลงทุนใช้ในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย แต่ยังมีอีกหลายเรื่องเป็นองค์ประกอบสำคัญ เช่น มาลงทุนแล้วมีผลิตภาพ (Productivity)ที่ดี มีแรงงานที่มีทักษะรองรับ มีต้นทุนด้านโลจิสติกส์ที่เหมาะสม ผลิตสินค้าแล้วส่งไปขายประเทศใดได้บ้าง เฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่เรามีแต้มต่อจากความตกลง FTA ใหม่ๆ สรุปคือเขาดูทั้งเรื่องต้นทุน และตลาด ดังนั้นรัฐบาลใหม่ต้องสร้าง Ecosystem หรือสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการลงทุน”

  • เร่งเยียวยารากหญ้าเดือดร้อน

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้สิ่งที่ภาคเอกชนคาดหวัง คือ ความชัดเจน และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้ได้โดยเร็ว และสิ่งสำคัญที่อยากเห็น คือ การผลักดัน และเร่งนโยบายต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น(implement) ที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งประเทศ

ส่วนในมุมต่างชาติ หรือนักลงทุน ผู้ถือหุ้นของ เอสซีบีเอกซ์ เชื่อว่า ยังมองประเทศไทยมีศักยภาพด้านการลงทุน หากมีการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว ความชัดเจนเรื่องต่าง ๆ จะมีมากขึ้น และเชื่อว่าประเทศไทย ยังมีความหวัง และน่าจะเป็นประเทศที่สามารถเติบโตที่แข็งแรงได้

“นักลงทุนต่างประเทศยังเฝ้ารอ และยังไม่จัดอันดับความสำคัญสำหรับประเทศไทย อยู่ในระดับต้น ๆ เพราะทุกคนรอดูว่าหากมีการเปลี่ยนแปลง มีการผลักดันนโยบายต่าง ๆ มีการ Implement ที่ชัดเจนอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าไทยจะเป็นประเทศที่มีศักยภาพ และเติบโตสูงเหมือนในอดีตที่เคยเป็นมาได้”

ส่วนนโยบายด้านเศรษฐกิจแรก ๆ ที่ภาคเอกชนอยากเห็น มีทั้งเรื่องระยะสั้น และระยะยาวโดยเฉพาะเรื่องระยะสั้น ที่เกี่ยวกับประชาชนรากหญ้าที่ได้รับความเดือดร้อน จากภาวะวิกฤติหลายเรื่องที่ซ้อนกันมามาตลอด คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเยียวยา และต้องมีมาตรการช่วยเหลือ แต่ช่วยเหลือแล้ว ต้องไม่ทำให้จนกระดานในระยะยาวด้วย และต้องทำอย่างไรให้สามารถแก้ไขปัญหาให้ได้ในระยะยาวได้จริง ๆ

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สำหรับนโยบายรัฐบาลใหม่ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ Future Economy โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นต้องรอดู และอยากเห็นการจัดตั้งรัฐบาล และตั้งคณะรัฐมนตรีให้ได้อย่างรวดเร็วเพื่อติดตามดูรายละเอียดต่างๆว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

ทั้งนี้ นโยบายที่ควรทำเร่งด่วน หลัก ๆ คือ การสร้างโครงสร้างเศรษฐกิจมีการหมุนเวียน เข้าถึงในลักษณะที่มีประสิทธิภาพ ทั่วถึง เท่าเทียม โดยเฉพาะลดความเหลื่อมลํ้า ซึ่งเป็นเรื่องการวางระบบเศรษฐกิจให้ทุกคนเข้าถึง และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ศักยภาพ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • จี้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS มองว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่นั้นต้องเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและชัดเจน ยิ่งล่าช้าไปความชัดเจนจะยิ่งลดลงอาจส่งผลกระทบกับนักลงทุนในด้านอื่น ๆ ซึ่งในส่วนของภาคโทรคมนาคม มีความมั่นคงอยู่แล้ว แต่อยากให้รัฐบาลใหม่มองเรื่องหน่วยงานกำกับดูแล Regulator มากกว่า โดยต้องอยู่ในโหมดของผู้ให้การสนับสนุน หรือซัพพอร์ตเตอร์ กับผู้ประกอบการ เพื่อให้บริการที่ดีกับประชาชน และผู้บริโภคมากกว่าการเป็น Regulator คือการกำกับดูแลและเรียกเก็บค่าไลเซ่นต่าง ๆ เข้ารัฐบาล

ส่วนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้นมองว่า ต้องมุ่งไปสู่ดิจิทัลเท่านั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ กับประเทศไทย ซึ่งการจะเติบโตและแข่งขันในนานาประเทศได้ จำเป็นต้องพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลให้ได้ดี ให้แข็งแรง สร้างดิจิทัลให้เป็นจุดแตกต่าง เพื่อแข่งขันกับนานาประเทศ

“อยากให้รัฐบาลใหม่เร่งพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองให้นิ่ง เพื่อเป็นประโยชน์กับภาคธุรกิจ และประชาชนทั่วไป”

นายสกลกรย์ สระกวี ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานกรรมการบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวว่า รัฐบาลใหม่ควรมุ่งเน้นเรื่องความปรองดอง และการสนับสนุนสตาร์ทอัพ ซึ่งในฐานะที่บิทคับ เป็นสตาร์ทอัพ คาดหวังเรื่องแนวทางการกำกับดูแลทั้งบริษัทในวงการคริปโต ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ขณะที่การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลต้องพึ่งพาบริษัทเอกชน และสตาร์ทอัพ ที่เป็นบริษัทที่สามารถเติบโตในอนาคต

“รัฐบาลใหม่ที่เกิดขึ้นถ้ามองในเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลอยากให้มองบริษัทเอกชน ที่มีรูปแบบการทำธุรกิจใหม่มากขึ้น โดยในอดีตที่ผ่านมาผู้ให้บริการดิจิทัลจากต่างประเทศได้รับการสนับสนุนค่อนข้างมาก ส่วนสตาร์ทอัพไทย หรือผู้ประกอบการในประเทศแทบไม่เหลือ วันนี้ถ้าเปิดโทรศัพท์มือถือ มาจะเห็นแต่แอพฯต่างประเทศ”

ดังนั้น รัฐบาลใหม่ต้องเข้ามาดูเรื่องการกำกับดูแล ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ต้องมีการแก้ไข พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล เอากฎหมายกำกับหลักทรัพย์เดิมมาปรับใช้ ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ปัจจุบันโลก และเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

  • เร่งสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน

นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ กล่าวว่า สิ่งที่อยากให้รัฐบาลใหม่ทำคือ การสร้างความเชื่อมั่น ดึงการลงทุนจากต่างประเทศ ไทยควรเป็น Hub of Headquarter Asia เพราะคนอยากมาลงทุน ดังนั้น ต้องวางรากฐานเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) รัฐบาลใหม่ต้องทำงานเป็นทีมเวิร์ก กับคนต่างชาติที่มาลงทุน ให้คำแนะนำ รวมถึงนโยบายอื่น ๆ ที่อาจจะรวมไปถึงเรื่องภาษี, Free Trade Zone ที่อาจจะเกิดขึ้นใน EEC ที่มีกฎหมายออกมาแล้ว ซึ่งจะทำในพื้นที่อื่น ๆ นอกเหนือได้อีกหรือไม่ ซึ่งต้องทำเป็นองคาพยพ ที่ต้องมีคนนั่งศึกษาและทำอย่างรวดเร็ว รัฐบาลเก่าแก้กฎหมายไปเยอะแล้ว ต้องรีบสานต่อ เพราะมันเป็นเรื่องของเม็ดเงินที่จะเข้ามาและอยู่อย่างยั่งยืน ลงแล้วไม่ไปไหน

 “ความกังวลในขณะนี้คือ เรื่องของสุญญากาศ เพราะทุกอย่างไม่ได้แข่งกับตัวเอง เราแข่งกับคนทั้งโลก ฉะนั้นโอกาสของประเทศไทยมาดีอยู่แล้ว จะฉกฉวยโอกาสนั้นอย่างไร ถ้าเราช้า มีความไม่ชัดเจน เขาก็ไปประเทศอื่น หรือสามารถเซอร์วิสเขาได้ มากกว่า อันนี้คือ ความได้เปรียบ เสียเปรียบ เป็นเกมของการช่วงชิงโอกาสที่จะทำให้ประเทศก้าวกระโดด ถ้าไม่มีรัฐบาล หรือมีรัฐบาล แต่ไม่สามารถทำอะไรได้รวดเร็ว เราจะเสียโอกาสมาก เหมือนเราเพลี่ยงพลํ้าไปเลย”

อย่างไรก็ดี การกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ใช่การแจก แต่เป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและระบบ ที่จะทำให้การทำงานหรือการหาเลี้ยงชีพ การทำธุรกิจของคน มีระบบที่ดี ที่ได้รับการซัพพอร์ตให้อยู่บนขาของตัวเอง หาเงินเองได้ การแจกเงินไม่ได้ให้อะไรกับใครเลย เราต้องกลับมาในโหมดปกติ ซึ่งต้องถูกฟิคเรื่องระบบและการบริหารจัดการ ที่จะทำให้ทุกภาคส่วน สามารถทำผลผลิต หรือสร้างธุรกิจที่แข็งแรง หรือมีเงินได้ ต้องเอาเวลาและงบไปใส่ตรงนั้น ไม่ใช่เอามาแจก

  • ออกมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ

นางเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ยังอยู่ในไทม์ไลน์ และไม่น่าจะเกิดสุญญากาศ แต่อาจมีบ้างเกี่ยวกับงบการลงทุนที่รัฐบาลรักษาการณ์ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ แต่ไม่น่ากระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

ขณะที่การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ของรัฐบาลใหม่ ควรจะผลักดัน 3 ส่วน เพื่อให้เกิดศักยภาพรองรับในอนาคต ได้แก่ 1.ด้านการศึกษา 2.การแก้หนี้ และ3.โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นเรื่องของการลงทุนทางด้านระบบขนส่งมวลชน เป็นต้น ที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศเติบโตไปข้างหน้า

ที่สำคัญมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มองว่า ยังมีความจำเป็นเพราะปัจจุบันผู้บริโภคที่ซื้อบ้านมีภาระเพิ่มจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย

นายวรเดช รุกขพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีบียอนด์ ดีเวลอปเม้นท์ จำกัดระบุว่า อยากให้ทุกพรรคการเมืองไม่ว่ารัฐบาลฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ควรร่วมมือกันผลักดันให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า ช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตแข็งแรง ทั้งภาคส่งออก เกษตรกรรม อสังหาริมทรัพย์ สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติลงทุนในไทย สิ่งที่อยากเห็นรัฐบาลใหม่ สานต่อนโยบายเดิมคือ บัตรสวัสดิการรัฐเพื่อสนับสนุนผู้สูงอายุ เป็นต้น

  • คาดหวังทำงานให้เร็ว-เป็นธรรม

นายคีรี กาญจนพาสน์ ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นประชาชน และนักลงทุน คาดหวังให้มีการจัดตั้งรัฐบาล และเริ่มทำงานให้เร็วที่สุด จะเป็นใครก็แล้วแต่ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก และทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงแน่นอน

อย่างไรก็ตาม นโยบายของแต่ละพรรคการเมืองมีความสร้างสรรค์หลายอย่าง อาจไม่ถูกใจทุกคน แต่ปัญหาการจราจรและเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่ ความสุขของประชาชนเวลานี้มีไม่มาก ปัญหารถไฟฟ้าก็เป็นส่วนนึง แต่คนที่แบกรับและเป็นทุกข์ที่สุด คือ บีทีเอส หวังว่ารัฐบาลใหม่จะเข้าใจศึกษา ลงลึก และเข้ามาแก้ไขอย่างเป็นธรรม

 “เรื่องหนี้ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ที่ กทม.ยังค้างชำระบีทีเอสซี มองว่าปล่อยไว้แบบนี้อาจทนไม่ไหว ในฐานะผู้ลงทุนก็รับอยู่คนเดียวไม่รู้ว่ารัฐบาลและกทม.เข้าใจหรือไม่ ซึ่งมูลหนี้ 50,000 ล้านบาทมีอยู่ 2 ส่วนคือ ค่าเดินรถ กับค่าติดตั้งระบบ ซึ่งการก่อสร้างเสร็จแล้วและเปิดให้เดินรถแล้ว เราก็อะลุ้มอล่วยมาให้แล้ว 2 ปี”

ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 พฤาภาคมที่ผ่านมา ถึงกำหนดชำระค่าติดตั้งระบบ 20,000 กว่าล้านบาท และทางบริษัทได้ยื่นเรื่องไปทาง กทม.แล้ว หากปล่อยให้เอกชนแบกรับไปเรื่อย ๆ แบบนี้อาจจะทำให้ผู้โดยสารลำบาก

ส่วนการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม นายคีรีกล่าวว่า ผลการประมูลยังมีการฟ้องร้องกันไปมา แต่ตัวเลขชัดเจนว่าอะไรคืออะไร เชื่อว่าเจ้ากระทรวงคนใหม่คงจะไม่มีการตั้งธงแปลก ๆ  และเข้ามาทำให้ถูกต้อง เอาประโยชน์ของประชาชนและบ้านเมืองเป็นหลัก ไม่ควรเป็นของใครคนใดคนหนึ่งซึ่งไม่ถูกต้อง

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3893 วันที่ 4 – 7 มิถุนายน พ.ศ. 2566