นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ( FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนพฤษภาคม 2566 ( สำรวจระหว่างวันที่ 22—31 พฤษภาคม 2566) พบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 77.70 ปรับลดลง 26.8% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” เป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน
โดยนักลงทุนมองว่าการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ
สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ปัญหาการเมืองหลังการเลือกตั้ง รองลงมาคือการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ และการเก็บภาษีตลาดทุน
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนพฤษภาคม 2566 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
“ผลสำรวจ ณ เดือนพฤษภาคม 2566 รายกลุ่มนักลงทุนพบว่า มีเพียงความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้น 14.3% อยู่ที่ระดับ 100.00 ในขณะที่กลุ่มอื่นปรับลดลง โดยนักลงทุนบุคคลปรับลด 24.0% อยู่ที่ระดับ 73.61 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับลด 18.5% อยู่ที่ระดับ 91.67 และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศปรับลด 40.0% อยู่ที่ระดับ 75.00
SET Index ในครึ่งแรกของเดือนพฤษภาคม 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 สวนทางกับตลาดหุ้นโลกที่ปรับตัวลงจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและความล่าช้าในการยกระดับเพดานหนี้สาธารณะ
อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งหลังของเดือน SET Index ปรับตัวลงมากกว่าตลาดหุ้นอื่นทั่วโลก จากความกังวลต่อปัญหาเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งและนโยบายเศรษฐกิจ และกลับมาปรับขึ้นในช่วงปลายเดือนหลังจากมีความชัดเจนเกี่ยวกับ MOU ในการจัดตั้งรัฐบาลผสม โดย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2566 SET index ปิดที่ 1,533.54 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% จากเดือนก่อนหน้า นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 กว่า 33,047 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปี 2566 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 97,006 ล้านบาท ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ที่ 54,819 ล้านบาท
ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ สถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศเศรษฐกิจหลักทั่วโลกที่อาจกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี อาจกดดันให้ธนาคารกลางแต่ละประเทศต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติม และส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงอยู่ อีกทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้
ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ความรวดเร็วในการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งหากล่าช้าจะส่งผลกระทบต่อการอนุมัติร่างพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 รวมถึงความชัดเจนในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ได้ประกาศออกมา อาทิ นโยบายกระตุ้นการบริโภค นโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และนโยบายพลังงาน เช่น การปรับลดค่าไฟ รวมถึงนโยบายด้านภาษี”