รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการทางพิเศษ (ด่วน) สายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต วงเงิน 14,670 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 8,878 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 5,792 ล้านบาท โดยในช่วงที่ผ่านมา หลังจากกทพ.เปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการฯ พบว่าไม่มีเอกชนรายใดสนใจร่วมลงทุนนั้น ขณะนี้กทพ.เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนทั้งกลุ่มภาคเอกชนที่ซื้อซองการประมูลและไม่ได้ซื้อซองการประมูลโครงการฯ ว่ามีความเห็นหรือปัญหาใดที่ไม่จูงใจภาคเอกชนหรือไม่ คาดว่าจะเริ่มเปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนภายในวันที่ 12 มิถุนายนนี้
หลังจากนั้นกทพ. จะต้องปรับปรุงร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ให้สอดคล้องตามกรอบที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบหลักการฯ ใช้ระยะเวลาภายใน 1-2 สัปดาห์ หากเสียงส่วนใหญ่จากภาคเอกชนที่เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้เกินกรอบที่ ครม.เห็นชอบ ต้องรายงานต่อคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 พิจารณา และเสนอกลับมาที่กทพ.พิจารณารูปแบบการร่วมลงทุนโครงการฯใหม่ ก่อนจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ภายในปี 2566
“การประมูลโครงการทางพิเศษ (ด่วน) สายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต รอบใหม่จะใช้รูปแบบการร่วมลงทุน PPP สัญญาสัมปทาน 30 ปี ทั้งนี้จะต้องพิจารณาด้วยว่าโครงการฯจะประมูล PPP ได้เต็มรูปแบบทั้งโครงการฯหรือประมูล PPP ได้บางส่วน”
รายงานข่าวจากกทพ. กล่าวต่อว่า โครงการฯ คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลได้ภายในต้นปี 2567 หลังจากนั้นจะได้ผู้ชนะการประมูลโครงการฯ ภายในเดือนพฤษภาคม 2567 และเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปลายปี 2567 ระยะเวลาก่อสร้างราว 4 ปี เปิดให้บริการปี 2571
ส่วนการเวนคืนที่ดินของโครงการฯ ขณะนี้เริ่มออกสำรวจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อกำหนดเขตพื้นที่เวนคืนที่ดินแล้ว หลังจากที่ออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เวนคืนที่ดิน โดยใช้ระยะเวลา 2-3 ปี คาดว่าดำเนินการเวนคืนที่ดินแล้วเสร็จภายในปี 2568-2569 ซึ่งการเวนคืนที่ดินนั้นจะดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับการก่อสร้างโครงการฯด้วย
รายงานข่าวจากกทพ. กล่าวต่อว่า หากกทพ. เริ่มงานก่อสร้างสายกะทู้-ป่าตอง ไปก่อน จะนำงบประมาณใดมาดำเนินการนั้น มองว่า กทพ.จะมีการหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อขอออกพันธบัตรรัฐบาล,กู้เงินภายในประเทศ เพราะมีดอกเบี้ยต่ำ หรือใช้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) ก็สามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณา
สำหรับแนวทางเลือกของโครงการฯ ที่เหมาะสม มีทั้งหมด 2 แนวทางเลือก ประกอบด้วย 1.รอผลการศึกษาของโครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่ – เกาะแก้ว – กะทู้ เพื่อเพิ่มแนวเส้นทางให้มีระยะทางยาวขึ้น และครอบคลุมทั้งโครงการ จูงใจเอกชนร่วมลงทุนมากขึ้น แต่แนวทางนี้จะทำให้ภาพรวมโครงการล่าช้าออกไป เพราะต้องรอผลการศึกษาสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ แล้วเสร็จจึงจะประมูลได้ หากได้ตัวเอกชนร่วมลงทุนจึงจะเริ่มงานก่อสร้างทั้งสายกะทู้ - ป่าตอง และสายเมืองใหม่ - เกาะแก้ว – กะทู้
ส่วนแนวทางที่ 2 กทพ. จะเริ่มงานก่อสร้างสายกะทู้-ป่าตองไปก่อน เนื่องจากการก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นงานอุโมงค์ทางลอดที่ต้องใช้เวลาก่อสร้างจำนวนมาก หลังจากนั้นค่อยให้เอกชนมาชำระคืนในภายหลัง โดยกทพ.มีแผนต้องการให้เอกชนรายเดียวเป็นผู้รับสัมปทานทั้งโครงการฯ เพื่อให้อัตราค่าผ่านทางของโครงการฯเป็นระบบเดียวกันและสามารถลดต้นทุนได้บางส่วน ซึ่งแนวเส้นทางนี้จะทำให้ทันต่อเป้าหมายการเปิดให้บริการรองรับจังหวัดภูเก็ตเป็นเจ้าภาพงาน Specialize Expo 2028 ในปี 2571 ด้วย
ขณะที่รายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของโครงการฯได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้ว ส่วนผลการศึกษาของโครงการฯ ที่ผ่านมาพบว่ามีอัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) กับ 20.44% ขณะที่ผลตอบแทนด้านการเงินมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 1,734 ล้านบาท Equity Irr 8.50% อัตราส่วนผลตอบ แทนต่อต้นทุน (B/C ratio) 1.12 เท่า ระยะเวลาคืนทุน 21 ปี
สำหรับรูปแบบโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง เป็นโครงการก่อสร้างทางยกระดับ มีอุโมงค์อยู่ในช่วงกลางของแนวเส้นทาง ระยะทางรวม 3.98 กิโลเมตร (กม.) มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมกับ ถ.พระเมตตา ในพื้นที่ ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จน ถึงจุดสิ้นสุดโครงการฯ ในพื้นที่ ต.กะทู้ อ.กะทู้ มีทางขึ้น-ลง 2 แห่ง และมีด่านเก็บค่าผ่านทางตั้งอยู่บริเวณ ต.กะทู้ 1 ด่าน
นอกจากนี้ กทพ.ได้คาดการณ์ปริมาณจราจรโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง ณ ปีเปิดให้บริการ ประมาณ 71,000 คันต่อวัน แบ่งเป็น รถยนต์ 36,000 คันต่อวัน และรถจักรยานยนต์ 35,000 คันต่อวัน