แนะปรับขึ้นค่าจ้าง 3 ระดับ-เร่งอุตฯไทยสู่ยุค 4.0 แก้เกมค่าแรงขึ้นรายปี

11 มิ.ย. 2566 | 02:21 น.
อัพเดตล่าสุด :11 มิ.ย. 2566 | 02:59 น.

แม้เวลานี้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ยังมีความคืบหน้าไปไม่ถึงไหน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ตามที่เจ้าตัวประกาศไว้หรือไม่ ก็ยังไม่แน่ เพราะยังต้องฝ่าอีกหลายด่าน และนับจากนี้ยังต้องจับตาสถานการณ์บ้านเมืองจะพลิกผันไปอย่างไร

สุดท้ายแล้วหนึ่งในนโยบายปรับขึ้นค่าแรงเป็น 450 บาทต่อวันของพรรคก้าวไกลที่เป็นความกังวลของภาคธุรกิจเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมที่ยังพึ่งพาแรงงานเป็นหลักถึงผลกระทบต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นอีกจะเป็นอย่างไร ยังต้องติดตาม

อย่างไรก็ตามมีข้อเสนอแนะจากนักวิชาการในกรณีที่การจัดตั้งรัฐบาลขอ ง 8 พรรคร่วมที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำประสบความสำเร็จ ทางออกต่อค่าแรงหรือค่าจ้างขั้นต่ำที่จะปรับขึ้น จะมีทางออกอย่างนั้น

รศ.ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การปรับขึ้นค่าแรง หรือค่าจ้าง  รัฐบาลใหม่ที่เข้ามา หากมีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ ควรแบ่งค่าจ้าง ออกเป็น  3  ระดับ คือ 400 บาทต่อวัน, 425 บาทต่อวัน และ 450 บาทต่อวัน  โดยควรปรับขึ้นตามประสิทธิภาพแรงงาน หมายถึง ประสิทธิภาพแรงงานสูงจ่ายสูง ประสิทธิภาพแรงงานต่ำจ่ายต่ำ

โดยค่าจ้าง 450 บาทต่อวัน มองว่าควรอยู่ในกลุ่มธุรกิจบริการ เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ(ICT)  การเงิน บันเทิง ก่อสร้าง เป็นต้น ส่วน 425 บาท ต่อวันอยู่ในภาคอุตสาหกรรม  และ 400 บาทต่อวันในกลุ่มเกษตรกรรม

แนะปรับขึ้นค่าจ้าง 3 ระดับ-เร่งอุตฯไทยสู่ยุค 4.0  แก้เกมค่าแรงขึ้นรายปี

ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ ไปพร้อมกับการขึ้นค่าจ้าง  เนื่องจากเงินค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นประเมินจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มอีกประมาณ 4,000 ล้านบาท (เพิ่มจาก 354 เป็น 450 บาท/วัน) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียง 0.1% ไม่พอที่จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น ดังนั้นรัฐบาลจะต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเพิ่ม และเพื่อให้สินค้า SME ขายได้เพิ่ม เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตจากค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น

แนะปรับขึ้นค่าจ้าง 3 ระดับ-เร่งอุตฯไทยสู่ยุค 4.0  แก้เกมค่าแรงขึ้นรายปี

“นอกจากนี้ต้องเร่งขยายตลาดส่งออกหรือเพิ่มมูลค่าการส่งออก เนื่อจากปีนี้มีโอกาสที่การส่งออกไทยจะติดลบ  -1%  ดังนั้นต้องไปส่งเสริมให้มีการขายสินค้าในตลาดต่างประเทศเพื่อให้ธุรกิจมีรายได้เพิ่มชดเชยจากต้นทุนค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้น”

รวมถึงรัฐบาลต้องไปช่วยปรับลดต้นทุนในส่วนอื่น ๆ ในโครงสร้างต้นทุนการผลิต ที่สูงขณะนี้คือ ค่าปุ๋ย ซึ่งขณะนี้แม้ราคาปุ๋ยจะปรับลดลงมาบ้าง แต่ก็ยังถืออยู่ในระดับสูง การปรับลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ต้องโดยหาวิธีการลดต้นทุนเหล่านี้ในภาคการผลิตเช่น ค่าปุ๋ย โดยลดการนำเข้า ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในประเทศ ลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน โดยปรับลดจากโครงสร้างพลังงาน

ที่สำคัญต้องเร่งวางตำแหน่งประเทศให้ภาคการผลิตเป็น “อุตสาหกรรม 4.0” เร็วขึ้น เพื่อให้ภาคการผลิตของไทยเป็นการผลิตแบบนวัตกรรมและการสร้างมูลค่าพิ่มในผลิตภัณฑ์ และวางตำแหน่งอุตสาหกรรมใดที่เป็นเน้นแรงงานเข้มข้น(Labor Intensive) อุตสาหกรรมใดใช้นวัตกรรม ภายใต้การผลิตแบบ BCG(Bio-Circular-Green)  และต้องมีช่องทางพิเศษในการกู้ยืมเงินเพื่อ SMEs โดยธนาคารของรัฐต้องทำช่องทางพิเศษ มีจำนวนเงินและดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจาก ภาระต้นทุนค่าจ่างที่เพิ่มขึ้นด้วย