นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สำหรับผลการหารือร่วมกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยประเด็นหลักที่ได้หารือร่วมกันในวันนี้ เป็นเรื่องของค่าจ้างการติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ประมาณ 22,000 ล้านบาท
ที่ครบกำหนดการชำระไปเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2566 ซึ่งทางผู้ว่าฯ กทม. ได้แจ้งว่าจะมีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ และในเรื่องนี้คณะกรรมการวิสามัญศึกษาปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ประชุมมา 5-6 ครั้ง มีความเข้าใจในเรื่องนี้พอสมควรแล้วคงใช้เวลาในการพิจารณาไม่นาน
“ผมต้องขอขอบคุณผู้ว่าฯ กทม. ที่เปิดโอกาสให้เราได้เข้ามาหารือร่วมกัน และเข้าใจในบริบทของบริษัทเอกชน ที่ต้องแบกรับภาระหนี้มาถึง 4 ปี กับก้อนหนี้กว่า 50,000 ล้านบาท เพราะหากเป็นเอกชนรายอื่นคงหยุดเดินรถไฟฟ้าไปแล้ว แต่ตนและบีทีเอส เราเข้าใจผู้โดยสารที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เกิดขึ้น จึงบริหารโครงการอย่างเต็มความสามารถ และต้องหาเงินทุนจำนวนมากมาบริหาร เพื่อไม่ให้กระทบกับการดำเนินชีวิตของผู้โดยสาร แต่หากวันหนึ่งเราไม่สามารถเดินรถได้ ด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็คงเป็นไปตามเหตุ และผลที่เกิดขึ้นจริง ส่วนกระบวนการชำระหนี้ คงต้องดำเนินการตามข้อกฎหมาย และกระบวนภายในของกทม. แต่จะจ่ายในรูปแบบไหน หรือจ่ายยังไง ยังไม่ได้มีการพิจารณา”
ส่วนความคืบหน้าหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว แบ่งเป็นหนี้ก้อนแรกวงเงิน 11,755.06 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการอุทธรณ์ที่กทม.ได้ยื่นต่อศาลปกครอง หลังจากก่อนหน้านี้ศาลปกครองได้พิพากษาให้กทม. และบริษัท กรุงเทพธนาคม จํากัด (เคที) ร่วมกันจ่ายหนี้ให้กับบีทีเอส
เชื่อว่าอีกไม่นานคงมีความชัดเจน ส่วนหนี้ก้อนที่สองวงเงิน 11,068.50 ล้านบาท ทางบีทีเอสได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางให้จ่ายหนี้ไปเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฯ ส่วนหนี้ที่เหลือ และหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากการเดินรถ จะมีการดำเนินการตามขบวนการต่อไป
“เรื่อง O&M ตนไม่ทราบว่ารัฐบาลรักษาการจะช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้อย่างไรได้บ้าง เพราะในช่วงเป็นรัฐบาลในชุดที่ผ่านมา ก็ได้มีการบรรจุวาระเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 3 – 4 ครั้ง แต่ก็ถูกนำออก เนื่องจากมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน ดังนั้นหากรัฐบาลรักษาการดำเนินการแก้ไขปัญหาไม่ทัน ตนก็หวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามาดำเนินการได้ เพราะน่าจะมีความเข้าใจปัญหามากขึ้นแล้ว"
นายคีรี กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งข้อกล่าวหาอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมกับพวก 13 คน ซึ่งปรากฏชื่อของตนเองและบริษัทฯ ในความผิดสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ และความผิดฮั้วประมูลนั้น ขอยืนยันอย่างหนักแน่นอีกครั้งว่า เราไม่เคยฮั้วประมูล และสัญญาทุกอย่างมีที่มาที่ไป
“ วันนี้ตนไม่ติดใจประเด็นในเรื่องใดแล้ว และการเดินทางมาหาผู้ว่าฯ กทม. ในครั้งนี้ เพราะอยากให้เห็นใจภาคเอกชน ที่มีหนี้สะสมของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวถึงประมาณ 50,000 ล้านบาท ซึ่งในช่วงก่อนหน้านี้ ทางคสช. ก็มีการเสนอแนวทางการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวมาให้กับบีทีเอส เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหนี้ที่เกิดขึ้น แต่ด้วยสังคมอาจไม่เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงทำให้เรื่องดังกล่าวหยุดนิ่งในขั้นตอนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี”
พ.ต.อ. สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวอีกว่า เรื่องข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. ทางบีทีเอสได้เคยชี้แจงไปแล้วอย่างชัดเจน และได้ยื่นหนังสือไปยัง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ และนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการหาตัวผู้กระทำผิด ที่ปล่อยให้มีเอกสารภายในหลุดออกมา และส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ และราคาหุ้นของบริษัทฯ
“ขณะนี้ผ่านมา 3 เดือนแล้ว ก็ยังไม่มีการชี้แจงจากป.ป.ช. เพราะก่อนหน้านี้ทางป.ป.ช.ได้ออกมายอมรับว่าเป็นเอกสารลับทางราชการ และได้มีการสอบถามเพิ่มเติมว่า ข้อกล่าวหาที่ระบุมานั้นผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์กระทำผิดอย่างไร ได้ร่วมกระทำผิดและสนับสนุนการกระทำผิดอย่างไร และเวลาใด”
ทั้งนี้ป.ป.ช.กลับทำหนังสือแจ้งมาเพียงระบุว่า ข้อกล่าวหาที่ได้แจ้งมานั้นครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ซึ่งบริษัทขอยืนยันว่าเอกสารการแจ้งข้อกล่าวหาของคณะกรรมการป.ป.ช.ที่ส่งมานั้น ยังไม่เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย เราเพียงอยากขอความชัดเจนว่า ที่แจ้งข้อกล่าวหา ทั้งในฐานะนิติบุคคล และในฐานะส่วนตัวนั้น เราได้ไปกระทำความผิดอย่างไร ร่วมกับใคร ซึ่งหมายถึงผู้กล่าวหาคนใด กระทำผิดกันที่ไหน กระทำความผิดกันตั้งแต่เมื่อไหร่ ซึ่งคำถามนี้เป็นคำถามพื้นพื้นง่ายง่าย แต่ที่ผ่านมาเรายังไม่ได้รับข้อมูลในส่วนนี้เลย และที่สำคัญการสรุปพฤติการณ์การกระทำความผิดของป.ป.ช. ต้องระบุพยานหลักฐานที่ใช้ยืนยันการกระทำความผิด
พ.ต.อ. สุชาติ กล่าวต่อว่า ในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาก็ไม่มีระบุในเรื่องพยานหลักฐานนี้ ที่ต้องมาเน้นย้ำในเรื่องนี้ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่กำหนดไว้และมีความสำคัญมาก การให้การของผู้ถูกกล่าวหาต้องไม่หลงประเด็น
“ขณะนี้เราได้ทำหนังสือไปถึงคณะกรรมการป.ป.ช. อีกครั้งหนึ่งแล้ว ซึ่งหวังว่า ท่านจะให้ความกรุณาดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เพื่อทางเราจะได้ชี้แจงข้อกล่าวหาและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของข้อเท็จจริงบางประการที่แจ้งมา และสามารถอธิบายได้ ทางบริษัทก็ได้ดำเนินการชี้แจงไปแล้ว”