สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 โดยเฉพาะแรงขับเคลื่อนจาก “การลงทุนภาครัฐ” ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งเครื่องยนต์เศรษฐกิจสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย ภายหลังจากผ่านการเลือกตั้งใหญ่ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา
โดย สศช. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวใน 2.7 – 3.7% โดยหนึ่งในปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญมาจาก การลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐ เช่นเดียวกับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ
หวังเงินลงทุนรัฐ 1.2 ล้านล้านประคอง
การลงทุนภาครัฐ เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2566 ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี และโครงการลงทุนสำคัญของรัฐวิสาหกิจ ควบคู่ไปกับการผลักดันโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) เพื่อรักษาแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐ
โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กรอบวงเงินงบลงทุน รวมของภาครัฐมีจำนวนทั้งสิ้น 1,242,785.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% จากปีก่อนหน้า โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของงบลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี วงเงินรวม 655,183 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.1% ขณะที่งบลงทุนจากงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี มีวงเงิน 144,251.5 ล้านบาท ลดลง 14.2% และ งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ มีวงเงิน 443,351 ล้านบาท ลดลง 5.4%
ลุ้นเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ
การลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปี 2566 มีมูลค่าการลงทุนรวม 443,351 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะมีการเบิกจ่ายสูงสุด 10 โครงการ มูลค่า 83,945.12 ล้านบาท คิดเป็น 59.5% ของประมาณการเบิกจ่าย งบลงทุนรัฐวิสาหกิจในโครงการสำคัญ ประกอบด้วย
สำหรับข้อมูลจริงในไตรมาสที่สองของปีงบประมาณ 2566 มีการเบิกจ่ายงบลงทุนของ รัฐวิสาหกิจภายใต้โครงการลงทุนสำคัญ 10 อันดับแรก มูลค่า 24,939.35 ล้านบาท คิดเป็น 29.71% ของประมาณการเบิกจ่าย และ เมื่อรวม 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 มีการเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 30,289.31 ล้านบาท คิดเป็น 36.08% ของประมาณการเบิกจ่าย
ทั้งนี้ เพื่อให้แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการติดตามและเร่งรัดการลงทุนที่ผูกพันสัญญาไว้แล้ว รวมทั้งการเร่งดำเนินการโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติให้เบิกจ่ายลงทุนแล้วให้ดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายโดยเร็ว
จับตาโครงการ PPP ช่วยดึงการลงทุน
การลงทุนในโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ในปีงบประมาณ 2566 มีโครงการร่วมลงทุนที่คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เห็นชอบแล้ว 4 โครงการ วงเงินรวม 98,799 ล้านบาท แยกเป็นมูลค่า เงินลงทุนภาครัฐ 12,498 ล้านบาท และมูลค่าเงินลงทุนภาคเอกชน 86,301 ล้านบาท ประกอบด้วย