สร้างปรากฎการณ์พลิกโฉมเมืองครั้งสำคัญครั้งเมื่อ "รัฐบาลประยุทธ์" มีนโยบายพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าสารพัดสีในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทยอยแล้วเสร็จ เปิดให้บริการในหลายเส้นทาง ล่าสุดรถไฟฟ้ามหานคร MRTสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) กดปุ่มเดินรถเสมือนจริง พร้อมเตรียมเก็บค่าโดยสาร และใช้ตั๋วร่วม หรือโครงการบัตรโดยสารใบเดียว อำนวยสะดวกการเดินทางแบบไร้รอยต่อ ตามด้วยรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี)
มุมสะท้อนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มองว่าการพัฒนาระบบรางเชื่อมการเดินทางให้ครบวงรอบ สร้างความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจประเทศ ลดการใช้พลังงาน การเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิง ลดมลพิษทางอากาศ PM2.5 แก้ปัญหาจราจรติดขัด ร่นระยะเวลาเดินทาง สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีต่อประชาชน รวมทั้งยังสร้างความเจริญให้กับพื้นที่
ขณะเดียวกันต้องพัฒนาการเชื่อมต่อให้ดียิ่งขึ้นโดยเฉพาะระบบตั๋วร่วม หรือโครงการบัตรโดยสารใบเดียวใช้ได้ทุกระบบโครงข่าย โดยกระทรวงคมนาคมได้รายงานมาแล้ว ส่วนเรื่องการเก็บค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรงในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้นั้น กระทรวงคมนาคมจะต้องเสนอเข้าที่ประชุม ครม.เพื่อเห็นชอบอนุมัติและรับทราบต่อไป โดยที่ผ่านมาได้วางแผนเรื่องการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟฟ้าในลักษณะใยแมงมุม รวมถึงการพิจารณาใช้ตั๋วร่วมตลอดการเดินทาง เพื่อลดค่าใช้จ่ายของประชาชน รวมถึงค่าแรกเข้า และการขยายอาคารที่จอดรถกรณีประชาชนใช้บริการมากขึ้นต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่ทำหน้าที่สานต่อ
ขณะแผนโครงข่ายระบบขนส่งทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (M-MAP) ระยะ 20 ปี (ปี 2553-2572) รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่าปัจจุบันมีการเปิดบริการแล้ว 11 สายทาง ระยะทางรวม 211.94 กิโลเมตร (กม.) ประกอบด้วย
1.รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-เคหะสมุทรปราการ
2.รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง
3.รถไฟฟ้า BTS สายสีลม และส่วนต่อขยาย ช่วงตากสิน-บางหว้า
4.รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ
5.รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่
6.รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง
7.รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงเตาปูน-ท่าพระ
8.รถไฟฟ้าสายสีทอง ช่วงกรุงธนบุรี-คลองสาน
9.รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต
10.รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิต และ
11. รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน ช่วงหมอชิต-ตลิ่งชัน
ล่าสุดได้มีการเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงสำโรง-หัวหมาก ฟรี เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ที่ผ่านมา จำนวน 13 สถานี หลังจากนั้นได้มีการเปิดเดินรถครบตลอดสายทั้ง 23 สถานี เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 โดยมีพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการเปิดโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลืองอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าสายสีเหลืองขบวนแรกที่ใช้รูปแบบโมโนเรล วิ่งทดสอบระบบตลอดสายลาดพร้าว-สำโรง จำนวน 23 สถานี
นอกจากนี้ยังมีโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 4 สายทาง ประกอบด้วย 1.รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ปัจจุบันภาพรวมโครงการมีผลงาน 96.73% เบื้องต้นได้เร่งรัดงานในทุกส่วน เพื่อเปิดให้ประชาชนใช้บริการได้บางช่วงภายในปีนี้ โดยเฉพาะช่วงสถานีหลักสี่-สถานีมีนบุรี รวม 17 สถานี จากทั้งหมด 30 สถานี หลังจากนั้นจะเปิดทดลองเดินรถภายในเดือน มกราคม 2567 หรืออย่างเร็ว เดือนพฤศจิกายน 2566 และเปิดให้บริการตลอดเส้นทาง ภายในเดือน มิถุนายน 2567
2.รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีชมพู ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เบื้องต้นบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายนี้ พยายามเร่งรัดการเปิดให้บริการเร็วขึ้นภายในปลายปี 2567 จากแผนที่คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณกลางปี 2568
3.รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีความก้าวหน้างานโยธา 99.85% ที่ใกล้แล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ แต่ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ สำหรับสายสีส้ม(ตะวันตก)
เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 แล้วเสร็จ ปัจจุบันได้มีการเสนอผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ ต่อกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามขั้นตอนทางกฎหมาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ ครม. ชุดใหม่เป็นผู้พิจารณา
4.รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) หรือสายสีม่วงใต้ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2570
ขณะที่โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน- นครราชสีมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีผลงานด้านงานโยธา (ปรับแก้แผนงานใหม่) ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2566 อยู่ที่ 89.299% คาดว่าแล้วเสร็จปลายปี 2566 จำนวน 29 ตอน ส่วนอีก 7 ตอน ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง แล้วเสร็จปลายปี 2567 และอีก 4 ตอน จะดำเนินการแล้วเสร็จปลายปี 2568 ซึ่งมีแผนจะเปิดให้ประชาชนใช้บริการได้บางส่วนภายในปี 2566
รวมถึงโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ใหม่ สายเหนือ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของที่วันนี้อยู่ระหว่างเวนคืนก่อสร้างไปแล้วกว่า 10% หลังจาก รถไฟเส้นทางนี้ถูกดองมากว่า 60 ปี นับตั้งแต่ปี 2503 และ โครงการรถไฟทางคู่ใหม่สายอีสาน สายบ้านไผ่-นครพนม อยู่ระหว่างดำเนินการเช่นเดียวกัน รวมถึงรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2569 และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ที่อยู่ระหว่างแก้ไขสัญญาและรอรัฐบาลชุดใหม่อนุมัติ เป็นต้น
ด้านโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) M81 บางใหญ่-กาญจนบุรี เบื้องต้นอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ ระยะทาง 96 กิโลเมตร (กม.) มีความคืบหน้า 90.21% คาดว่าจะเตรียมเปิดให้ประชาชนทดสอบใช้บริการฟรี 3 เดือน โดยจะเริ่มเปิดให้ใช้งานช่วงเดือนก.ย.หรือ ต.ค. 2567 ทั้งนี้โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) M81 บางใหญ่-กาญจนบุรี ผ่าน 4 จังหวัด ได้แก่
กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม และกาญจนบุรี จะทำให้การเดินทางจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไปยังภาคตะวันตกของประเทศ สะดวกและ ประหยัดเวลาขึ้น ทำให้การเดินทางจาก อ.บางใหญ่- กาญจนบุรี ใช้เวลาเพียง 50 นาที เมื่อเปรียบเทียบกับการเดินทาง โดยใช้ทางหลวงแผ่นดิน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ชม. 30 นาที