โรงแรมเล็ก เฮ ! มท.รื้อกฎหมาย บ้านพักอาศัย เปิดบริการรับท่องเที่ยวได้   

25 มิ.ย. 2566 | 06:07 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มิ.ย. 2566 | 06:29 น.

โรงแรมขนาดเล็กได้เฮ มท.1 แก้กฎหมาย ไฟเขียว อาคารประเภทอื่น บ้านพักอาศัย ตึกแถว เปิดบริการรับนักท่องเที่ยวตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากเมืองรองได้

 

 จากกรณีที่มีการนำอาคารประเภทอื่นมาให้บริการเป็นที่พักแก่ประชาชนใช้บ้านเรือนที่อยู่อาศัยนำมาให้บริการในรูปแบบของโรงแรมตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อหารายได้ซึ่งลักษณะและโครงสร้างของอาคารที่มีอยู่เดิมไม่สอดคล้องกับอาคารที่จะนำมาประกอบธุรกิจโรงแรมตามที่กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารกำหนดทำให้อาคารดังกล่าว ไม่สามารถขอรับใบอนุญาตดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารเป็นโรงแรมได้ และไม่สามารถขอรับใบประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมได้ เช่น ที่จอดรถยนต์ ที่ว่าง และระยะถอยร่นของอาคาร ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายในปัจจุบัน

 

 

 

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีนโยบายในการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็ก กระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง สนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการขนาดเล็ก มีรายได้จากการท่องเที่ยว นำความคิดสร้างสรรค์ ศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นมาดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในเมืองรอง ให้นักท่องเที่ยวมีทางเลือกพักโรงแรมที่หลากหลายภายใต้มาตรฐานความปลอดภัย จึงสั่งการให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการจัดทำกฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรมเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาตามนโยบายดังกล่าว

 

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำกฎกระทรวงตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารได้นำนโยบายของ รมว.มหาดไทย พล.อ อนุพงษ์ เผ่าจินดา  ที่เห็นว่า มีผู้ที่นำอาคารประเภทอื่นมาประกอบกิจการเป็นโรงแรม  แต่ยังไม่สามารถขออนุญาตเปลี่ยนการใช้เพื่อเป็นโรงแรมได้ เพราะติดขัดข้อกำหนดบางประการ เช่น ความกว้างของช่องทางเดิน บันได ระยะร่นแนวอาคาร เป็นต้น  จึงได้ดำเนินการจัดทำกฎกระทรวงเพื่อปลดล็อคดังกล่าว                

ที่ผ่านมา  มีการออกกฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. ๒๕๕๙ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2561)  และ ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2564) และ คำสั่ง คสช.ที่ 6/2562 เรื่อง มาตรการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานการประกอบธุรกิจโรงแรมบางประเภท ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2562 ผ่อนผันให้อาคารที่ไม่สามารถดำเนินการดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารเพื่อประกอบธุรกิจโรงแรมได้ เพราะตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม

ห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการโรงแรม ให้ได้รับการยกเว้นการใช้บังคับตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง และข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย และใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร ยกเว้นโทษทางอาญาสำหรับความผิดตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม กฎหมายว่าด้วยการผังเมือง หรือกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารแล้วแต่กรณี คำสั่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2564 

 

 หลังจากนั้น กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการออกกฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564 เพื่อขยายระยะเวลาการใช้บังคับกฎกระทรวงลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2559  โดย ขยายออกไปอีก 3 ปี รวมเป็น 8 ปี นับแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2559 โดยจะสิ้นผลการใช้บังคับวันที่ 18 สิงหาคม 2567  

อย่างไรก็ตามแม้จะได้ขยายเวลาในการผ่อนผันให้แล้ว แต่ปรากฏว่า ยังคงมี อาคารที่ยังไม่สามารถดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง เพื่อให้ได้รับใบรับรองการดัดแปลงอาคาร หรือใบอนุญาตเปลี่ยนการใช้อาคารมาประกอบธุรกิจโรงแรมได้อีกเป็นจำนวนมาก

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง จึงได้ดำเนินการออกกฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2566 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 140 ตอนที่ 36ก ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2566 แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2559  เพื่อให้อาคาร ที่มีอยู่ก่อนวันที่ 19 สิงหาคม 2559

สามารถนำอาคารดังกล่าว ที่ประสงค์จะเปลี่ยนการใช้อาคารมาประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ให้เข้าสู่ระบบการขออนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมได้ โดยได้รับการผ่อนผัน ยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติในเรื่องเกี่ยวกับที่ว่างของอาคาร ช่องทางเดินในอาคาร ความกว้างของบันได ระยะถอยร่นแนวอาคาร ฯลฯ แต่ทั้งนี้ อาคารที่จะเปลี่ยนการใช้ดังกล่าวต้องมีความมั่นคงแข็งแรงและมีระบบความปลอดภัยด้านอัคคีภัยเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด    

ทั้งนี้ การประกาศใช้กฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว จะสามารถเป็นเครื่องมือช่วยเหลือผู้ประกอบการในการสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระดับชุมชน และระดับประเทศ เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป