สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 10 ดอลลาร์ หรือ 0.52% ปิดที่ 1,923.80 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาทองคำได้รับแรงกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับ 3.756% เมื่อคืนนี้ ซึ่งการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
ตลาดทองคำยังได้รับปัจจัยลบจากความกังวลที่ว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวในงานเสวนาที่ประเทศโปรตุเกสเมื่อวานนี้ว่า อัตราเงินเฟ้อในยุโรปยังสูงเกินไปและมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับสูงเช่นนี้เป็นเวลานาน ซึ่งอาจทำให้ ECB ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อต่อไป
นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐยังส่งผลให้นักลงทุนเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป พุ่งขึ้น 1.7% ในเดือนพ.ค. ซึ่งปรับตัวขึ้นติดต่อกันเดือนที่ 3 และสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 0.9%
ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานยอดขายบ้านใหม่พุ่งขึ้น 12.2% สู่ระดับ 763,000 ยูนิตในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2565 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 675,000 ยูนิต
ทางด้าน Conference Board เปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 109.7 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2565 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 104.0 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเป็นการสำรวจมุมมองที่มีต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและในช่วง 6 เดือนข้างหน้า รวมทั้งสถานะการเงินส่วนบุคคล และการจ้างงาน
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนพ.ค.ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ โดยดัชนีดังกล่าวเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ ซึ่งสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)