กรณีบริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY ได้แจ้งมติคณะกรรมการบริษัทในการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2567 สำหรับหุ้นกู้ 3 รุ่น ได้แก่ SABUY258A, SABUY254A และ SABUY24DA ในวันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2567เพื่อขอมติผู้ถือหุ้นกู้ในการปรับโครงสร้างหนี้ ด้วยการขอขยายระยะเวลาไถ่ถอนหุ้นกู้ 3 รุ่นออกไปอีก 3 ปีจากวันครบกำหนดเดิม
พร้อมทั้งขอปรับเปลี่ยนเงื่อนไขสำคัญหลายประการ ได้แก่ การขอยกเลิกเงื่อนไขการดำรงอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Net Debt to Equity Ratio) และการขอปรับลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 2-5 ต่อปี ตามแต่ละช่วงเวลา รวมถึงขอเปลี่ยนงวดการจ่ายดอกเบี้ยจากทุก 3 เดือน เป็นทุก 6 เดือน
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส (ASPS) ในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ออกรายงานวิเคราะห์ชี้แจงข้อดี-ข้อเสียการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ของ บมจ.สบาย เทคโนโลยี (SABUY) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 พ.ย.นี้ ผ่านระบบ E-meeting โดยมี 6 วาระสำคัญเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้ ย้ำผู้ถือหุ้นกู้ต้องพิจารณารอบด้านก่อนลงมติ
วาระที่ 1 ขอขยายอายุหุ้นกู้ออกไปอีก 3 ปี พร้อมขอผ่อนผันการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน หากได้รับการอนุมัติจะช่วยให้บริษัทหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ มีเวลาปรับปรุงผลประกอบการ แต่ผู้ถือหุ้นกู้ต้องยอมรับความเสี่ยงที่จะได้รับชำระคืนเงินต้นช้าลง กระทบต่อแผนการเงินส่วนบุคคล
วาระที่ 2 ขอยกเลิกเงื่อนไขการดำรงอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Net Debt to Equity Ratio) ที่เดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 3:1 ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารการเงิน แต่มีความเสี่ยงที่บริษัทอาจก่อหนี้เพิ่มโดยไม่มีขีดจำกัด กระทบความสามารถชำระหนี้ในระยะยาว
วาระที่ 3-4 ขออนุมัติให้บริษัทสามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินโดยไม่ถือเป็นเหตุผิดนัด จะช่วยให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการเจรจากับเจ้าหนี้รายอื่น แต่ผู้ถือหุ้นกู้ต้องยอมรับความไม่แน่นอนของเงื่อนไขที่อาจเปลี่ยนแปลงในอนาคต
วาระที่ 5-6 ขอปรับเปลี่ยนการจ่ายดอกเบี้ยจากทุก 3 เดือนเป็น 6 เดือน และลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับงวดพฤศจิกายน 2567 เหลือร้อยละ 2 ต่อปี เพื่อลดภาระทางการเงินของบริษัท แต่ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับผลกระทบจากรายได้ดอกเบี้ยที่ลดลงและความถี่ในการรับดอกเบี้ยที่น้อยลง
ASPS ระบุว่าหากที่ประชุมไม่อนุมัติการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว อาจส่งผลให้บริษัทผิดนัดชำระหนี้ นำไปสู่การเรียกชำระหนี้ทันที และอาจเกิดการผิดนัดแบบลูกโซ่ (Cross Default) กับหนี้สินอื่นๆ นอกจากนี้ ความน่าเชื่อถือของบริษัทที่ลดลงจะกระทบต่อความเชื่อมั่นจากลูกค้าและคู่ค้า สถาบันการเงินอาจระงับการสนับสนุน และในกรณีเลวร้ายที่สุด บริษัทอาจต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งจะใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูง
ทั้งนี้ ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้แนะนำให้ผู้ถือหุ้นกู้พิจารณาปัจจัยสำคัญก่อนลงมติ ได้แก่ ผลกระทบต่อกระแสเงินสดและแผนการเงินส่วนบุคคล โอกาสในการได้รับชำระหนี้คืนเต็มจำนวน ความเสี่ยงจากการเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกัน ทางเลือกในการลงทุนอื่นๆ และความเชื่อมั่นต่อแผนฟื้นฟูของบริษัท
การประชุมครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ SABUY ผู้ถือหุ้นกู้ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการให้โอกาสบริษัทฟื้นฟูกิจการ กับผลกระทบต่อผลตอบแทนและระยะเวลาการได้รับชำระหนี้คืน โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-680-1362, 1246, 1219" ASPS ระบุ
ทั้งนี้ SABUY เปิดเผยผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนของปี 2567 ว่า บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิรวมสูงถึง 6.06 พันล้านบาท โดยเป็นขาดทุนสุทธิในส่วนของบริษัทใหญ่จำนวน 5.74 พันล้านบาท
สาเหตุสำคัญของการขาดทุนที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 3/2567 มาจากการรับรู้ผลขาดทุนจากการเสียอำนาจการควบคุมในบริษัทย่อย รวมถึงผลขาดทุนจากการจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) หรือ BZB ให้กับบุคคลภายนอกกลุ่มบริษัท ซึ่งทำให้ต้องรับรู้ผลขาดทุนจำนวน 575.4 ล้านบาท
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มีมติเห็นชอบให้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยจะเปลี่ยนชื่อบริษัทจากเดิม "บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)" เป็น "บริษัท ดับบลิว เอส โอ แอล จำกัด (มหาชน)" พร้อมเปลี่ยนชื่อย่อหลักทรัพย์จาก SABUY เป็น WSOL รวมถึงเปลี่ยนตราประทับบริษัทให้สอดคล้องกับชื่อใหม่
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทยังได้รับทราบการลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของนายวิรัช มรกตกาล และมีมติแต่งตั้งนายอิทธิชัย พูลวรลักษณ์ เข้าดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่แทน
บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส (ASPS) ในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้