จับกระแสลงทุนครึ่งปีหลัง โอกาสไทยในสายตานักลงทุน

28 มิ.ย. 2566 | 06:08 น.
อัปเดตล่าสุด :28 มิ.ย. 2566 | 06:16 น.

จับกระแสลงทุนครึ่งปีหลัง โอกาสไทยในสายตานักลงทุน : คอลัมน์รอบด้านการนิคมฯ โดย... รศ.ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3900

สวัสดีครับท่านผู้อ่านฐานเศรษฐกิจและผู้อ่านคอลัมน์รอบด้านการนิคมฯ เรากำลังจะเดินทางเข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลังกันแล้วนะครับ ตลอดช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้เดินทางไปโรดโชว์เพื่อชักจูงการลงทุนในหลายประเทศ ได้พบปะนักลงทุนและหน่วยงานพันธมิตรหลากหลายหน่วยงาน  

ตลอดจนได้มีโอกาสต้อนรับนักลงทุนชาวต่างชาติ ที่สนใจเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งจากการทำงานอย่างหนักของหน่วยงานภาครัฐที่ร่วมโรดโชว์ไปด้วยกันตลอดครึ่งปีแรก ทำให้ผมเชื่อมั่นว่า การลงทุนในครึ่งปีหลังจะเป็นไปในทิศทางที่สดใส แม้สถานการณ์ทางการเมืองจะยังไม่ได้ข้อสรุปในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ผมยังเชื่อมั่นเสมอว่า การที่เราได้ทำงานกันอย่างหนักจะส่งผลบวกต่อการลงทุนอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังมีนโยบายกระตุ้นโรงงานให้มาตั้งในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะส่งผลกับโรงงานที่ต้องการตั้ง Stand Alone มากขึ้น เพราะมีการกำหนดพื้นที่ให้โรงงานมาตั้งอยู่รวมกันอย่างมีระบบ ระเบียบ ใช้ระบบสาธารณูปโภคส่วนกลางร่วมกัน และหากโรงงานอุตสาหกรรมย้ายเข้ามา กนอ. ก็มีความพร้อมในการรองรับ 

โดยในแต่ละปี เรามีการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบ กนอ. ดำเนินการเอง และนิคมร่วมดำเนินงาน ซึ่งมีทั้งการจัดตั้งนิคมฯ ใหม่ และการขยายพื้นที่นิคมฯ เดิม

สำหรับการลงทุนของ กนอ. เราได้ลงทุนในธุรกิจอื่นๆ เพื่อแสวงหากำไรและผลตอบแทนจากการลงทุนให้กับ กนอ. ในรูปแบบเงินปันผล หรือ ช่องทางอื่นๆ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตาม พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522

และในปี 2566 กนอ. จะมีการลงทุนใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของนิคมฯ และบริษัทร่วมทุน โดย กนอ. อยู่ระหว่างจัดตั้งนิคมฯ ใหม่ 2 แห่ง ใน จ.นครสวรรค์ และ จ.อุบลราชธานี และขยายพื้นที่ในนิคมฯ เดิมอีก 2 แห่ง ได้แก่ นิคมฯ อัญธานี และ นิคมฯ ดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 3 

ขณะที่การลงทุนบริษัทร่วมทุนของ กนอ. ในปีนี้จะมีอีก 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท อินดัสทรี โปรโมชั่น จำกัด (IP) ขณะนี้ได้ลงนามสัญญาผู้ถือหุ้นแล้ว และโครงการลงทุนจัดตั้ง/ ร่วมทุนบริษัทธุรกิจบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมและขยะมูลฝอย ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาสัญญาผู้ถือหุ้น

                            จับกระแสลงทุนครึ่งปีหลัง โอกาสไทยในสายตานักลงทุน

ปัจจุบัน กนอ. มีบริษัทร่วมทุน 9 บริษัท ได้แก่ บริษัท 1. จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ East Water 2. บริษัท บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) หรือ GENCO 3. บริษัท อีสเทิร์น ฟลูอิด ทรานสปอร์ต จำกัด (EFT) 4. บริษัท โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด (GUSCO)

5. บริษัท เจม เอ็นไวรันเมนทัลเมเนจเม้นท์ จำกัด (GEM) 6. บริษัท โพเอ็มโกลบอล จำกัด (POEM) 7. บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด (BIC) 8. บริษัท ไพร์ม อินดัสเทรียล เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (PIE) และ 9. บริษัท อินดัสทรี โปรโมชั่น จำกัด (IP) ซึ่งเราเชื่อว่าจะสร้างเม็ดเงินให้ กนอ. และประเทศอีกมาก

แม้สถานการณ์ทางการเมืองจะยังไม่นิ่ง เพราะอยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แต่ก็ยังมีสัญญาณที่ดี เพราะนักลงทุนให้ความสนใจประเทศไทย และเชื่อมั่นที่จะลงทุนกับ กนอ.

ขณะเดียวกันยังคงมีนักลงทุนรายใหม่จากหลายชาติทั้งเอเชีย และ ยุโรป สอบถามเข้ามาเพื่อนำคณะนักลงทุน หรือบริษัทเข้ามาดูพื้นที่ลงทุนในนิคมฯ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหนุนที่ทำให้การลงทุนในนิคมฯ ช่วงครึ่งปีหลังดีขึ้น คาดว่าจะมาจากภาวะคลี่คลายของโควิด-19 และการเปิดประเทศของไทยมากขึ้น หนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติให้ทยอยฟื้นตัว

ประกอบกับแนวโน้มการขยายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ มาอาเซียน รวมถึงไทยมากขึ้น จากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจ ซึ่งเห็นได้ชัดว่า มีบริษัทต่างชาติขยายฐานการผลิตมาไทยหลายราย เช่น บริษัท บีวายดี ออโต้อินดัสทรี จำกัด จากประเทศจีน ขยายการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้านอกประเทศแห่งแรก ความคืบหน้าของโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC และ มาตรการกระตุ้นการลงทุนจากภาครัฐที่ทยอยออกมาต่อเนื่อง 
 

ผู้ประกอบการนิคมฯ ยังมีแนวโน้มมุ่งพัฒนานิคมฯ ในรูปแบบนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Industrial Estate) ที่มีความทันสมัยด้านเทคโนโลยีและพัฒนานิคมฯ เชิงนิเวศ ตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ 3 ด้านหลัก คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเ ศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) หรือ BCG ที่เน้นทำธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะสามารถดึงดูดนักลงทุนทั้งจากไทยและต่างชาติได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) คาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือนพฤษภาคม ปี 2566 ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง โดยมีปัจจัยบวกจากการบริโภคและการท่องเที่ยว อีกทั้งการลงทุนที่เพิ่มขึ้น

แต่ต้องจับตาดูการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาภาคการเงินของสหรัฐ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อผลผลิตการเกษตร อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ภาระหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งทุกปัจจัยล้วนมีความสำคัญต่อการลงทุน  

ดังนั้น แม้ภาพรวมการลงทุนจะอยู่ในทิศทางที่ดี แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยภายนอกก็มีความสำคัญเช่นกัน