นายโอฬาร วีระนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ดูเรียน คอร์ปปอเรชัน จำกัด และบริษัท ยักษ์เขียว จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจด้านการเกษตรเกี่ยวกับต้นไม้ส่งออก เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้เป็นตัวแทนภาคเอกชนของไทยที่เดินทางไปยังประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อร่วมมือในด้านการทำธุรกิจเกี่ยวกับต้นไม้ ตามข้อริเริ่มซาอุดีอาระเบียสีเขียว (Saudi Green Initiative) และข้อริเริ่มตะวันออกกลางสีเขียว (Middle East Green Initiative)
หลังซาอุดีอาระเบีย มีแผนจะนำเข้าต้นไม้ไปปลูกทั่วประเทศ จำนวน 1 หมื่นล้านต้น เพื่อฟื้นฟูให้เกิดพื้นที่สีเขียวตามธรรมชาติ รวมถึงจะร่วมมือกับกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ และประเทศหุ้นส่วนอื่นๆ ในการปลูกต้นไม้ในภูมิภาคด้วย
“ตอนนี้โครงการต่าง ๆ ของทางซาอุฯที่มีความต้องการต้นไม้จากทั่วโลก มีทั้งโครงการเมกะโปรเจกต์ ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป และยังมีโครงการกิกกะโปรเจกต์ เช่น The Line รวมถึงโครงการอื่นอีก 3-4 กิกกะโปรเจกต์ ซึ่งมีขนาดใหญ่มากทุกเมือง โดยทั้งหมดนั้นต้องการนำเข้าต้นไม้เพื่อใช้ในโครงการทั้งสิ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการของไทยในการส่งต้นไม้ไปได้ แต่การดำเนินการทั้งหมดก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องทำความเข้าใจให้ดีก่อน”
เช็คสเปคของต้นไม้ตรงตามออเดอร์
สำหรับการส่งออกต้นไม้ไปยังซาอุดีอาระเบียนั้น ต้องทำความเข้าใจรายละเอียดเกี่ยวกับสเปคของต้นไม้ที่จะส่งไปอย่างละเอียด และต้องพิจารณาต้นไม้ที่ทางซาอุฯ ต้องการใช้จริงด้วย
โดยหลักๆ ต้นไม้ที่ทางซาอุฯ ต้องการส่วนใหญ่เป็นไม้ต้น ไม่ใช่พันธุ์กล้าไม้ ตั้งแต่ไม้สูง ไม้กลาง ไม้เตี้ย และไม้เรี่ยดิน ซึ่งจะมีขนาดของต้นไม้แยกไปอีกว่า จะเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง หรือขาดเล็ก ที่เหมาะสมกับสถานที่ปลูกต่างๆ ตามความต้องการของซาอุฯ เช่น ไม้ที่ปลูกในสวนพฤกษศาสตร์ ประดับถนน หรือประดับสวน
เช็คขั้นตอน-กระบวนการส่งออกให้ชัด
พร้อมกันนี้ยังต้องดูกระบวนการส่งออกต้นไม้ไปยังซาอุฯ ให้ชัดเจน ทุกๆ ขั้นตอน เพราะทางซาอุฯ จะมีหลักเกณฑ์หลายอย่าง เช่น การห้ามนำดินเข้าในประเทศ หากพบว่ามีดินติดมากับต้นไม้ด้วยจะไม่สามารถนำเข้าต้นไม้ได้ ดังนั้นจึงต้องทำการล้างรากของต้นไม้ให้หมด หากตรวจพบอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำลายด้วย ขณะที่การทำธุรกิจกับซาอุฯ ก็มีขั้นตอนหลายอย่างที่ควรรู้ คือต้องเลือกพันธมิตรที่แข็งแรงและถูกต้อง เพราะถ้าเปิดบริษัทเพื่อทำการค้าในซาอุฯ ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท
พร้อมเป็นพี่เลี้ยงช่วยแนะนำ
นายโอฬาร กล่าวว่า ผู้ที่สนใจทำธุรกิจส่งออกต้นไม้จากไทยไปยังซาอุฯ บริษัท ยักษ์เขียว พร้อมให้คำแนะนำและความร่วมมือเพื่อหาโอกาสในการส่งออกต้นไม้ เพราะตอนนี้บริษัทได้รวบรวมแหล่งปลูกต้นไม้สำคัญของประเทศไทย 4 แหล่งใหญ่ คือ บ้านดงบัง จังหวัดปราจีนบุรี, บ้านชะอม จังหวัดสระบุรี, แม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ และตลาดต้นไม้บริเวณคลองรังสิต จังหวัดนครนายก โดยทุกแหล่งมีปริมาณต้นไม้พร้อมส่งออกจำนวน 2 แสนต้น ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของซาอุฯ ที่ยังต้องการต้นไม้เป็นจำนวนมาก
“ปัจจุบันยักษ์เขียวมีฟาร์มต้นไม้ขนาดใหญ่ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกหลายพันไร่ และมีประสบการณ์ทำธุรกิจเข้าใจกระบวนการส่งออกต้นไม้ไปยัง ตะวันออกกลาง และประเทศซาอุฯ เป็นอย่างดี เพราะมีโครงการความร่วมมืออยู่แล้วในช่วงที่ผ่านมา และได้เดินทางไปติดตามงานอยู่บ่อยครั้ง ถือเป็นนักธุรกิจด้านเกษตรนวัตกรรมด้านนี้โดยเฉพาะสามารถเข้ามาปรึกษาการทำธุรกิจได้ เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และไม่ถูกหลอกลวงด้วย”
ส่วนชนิด และประเภทต้นไม้ที่ทางซาอุฯ ต้องการนั้น หากผู้ที่ต้องการส่งออกต้องการรับทราบข้อมูลที่ชัดเจน ก็สามารถปรึกษาและขอคำแนะนำกับยักษ์เขียว เพื่อเลือกปลูกต้นไม้ให้ตรงตามความต้องการของซาอุฯ ในแต่ละประเภทที่มีผลตอบแทนที่ดี สามารถแข่งขันได้ในตลาดซาอุฯ ต่อไป นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมายักษ์เขียวยังได้มีความร่วมมือกับทางวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ เพื่อหาโอกาสในการปลูกต้นไม้ โดยรวบรวมที่ดินที่ถูกกฎหมายตั้งแต่ 50 ไร่ขึ้นไป ก่อนเข้าไปทำการวิเคราะห์ศึกษาคุณภาพดินว่าเหมาะกับการปลูกพืชชนิดไหน พร้อมใช้เทคโนโลยีในการปลูก รวมทั้งจะรับซื้อเพื่อส่งออกต่อไป
เปิดโอกาสเกษตรกรมีรายได้เพิ่ม 3 เท่า
เรื่องนี้ถือเป็นโอกาสของเกษตรกรไทยอย่างมาก เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ทางการเกษตร 149 ล้านไร่ โดยมีค่าเฉลี่ยรายได้ภาคเกษตรเพียงแค่ 9,000 บาทต่อไร่ต่อปีเท่านั้น แต่หากหาทางส่งออกด้วยการเลือกสายพันธุ์ต้นไม้ที่ซาอุฯ ต้องการ โดยที่มียักษ์เขียวร่วมสนับสนุน จะช่วยให้เกษตรกรมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้นไม่ตํ่ากว่า 20,000 - 30,000 บาทต่อไร่ต่อปีได้ หรือ 2-3 เท่าตัว ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศได้อีกมาก และยังช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงมากขึ้นด้วย
“ที่ผ่านมายักษ์เขียวตั้งใจผลักดันเรื่องนี้ เพื่อจะช่วยเหลือเกษตรกรของประเทศไทย มีรายได้ที่ดีมากขึ้นโดยที่ผ่านมากว่า 4 ปี ได้ เดินสายคุยกับเกษตรกร โดยเฉพาะกลุ่มที่รวมตัวกันเป็นวิสาหกิจหลายกลุ่มหลายชุมชนในประเทศ เพื่อมาร่วมมือกันทำเรื่องนี้ พร้อมทั้งยังขยายผลไปยังกลุ่มผู้ที่สนใจทำเรื่องนี้อย่าง จริงจังด้วย”