ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS เปิดเผยว่า สินค้าไทยที่เป็นดาวรุ่ง (Rising Star) ในตลาดซาอุดิอาระเบีย ได้แก่ สินค้าในกลุ่มอาหาร เช่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผักและผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องดื่ม สิ่งปรุงรสอาหาร ไก่ และอาหารสัตว์เลี้ยง
ซึ่งกลุ่มนี้มีส่วนแบ่งตลาดในซาอุฯ ไม่มากนัก จึงมีโอกาสในการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดคืน อีกทั้งเป็นสินค้าที่สอดรับกับเมกะเทรนด์ด้านความมั่นคงทางอาหารของซาอุฯ สินค้าในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง เช่น ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เหล็ก และปูนซีเมนต์ สินค้ากลุ่มเครื่องสำอาง และสินค้ากลุ่มรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าจากการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและ Saudi Vision 2030 จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นถึง 57,018 ล้านบาท คิดเป็น 0.21% ของจีดีพี โดยมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังซาอุดิอาระเบียในปี 2573 มีโอกาสสูงถึง 1.2 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า จากปี 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
และคาดว่านักท่องเที่ยวซาอุดิอาระเบียจะมีโอกาสแตะ 2 แสนคนในอีก 7 ปีข้างหน้า สร้างรายได้ให้กับภาคการท่องเที่ยวไทยราว 32,900 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่าจากช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งปัจจัยดังกล่าวยังจะช่วยหนุนการเติบโตของจีดีพีตามศักยภาพในระยะยาวอีกด้วย
สำหรับปัจจัยบวกจากการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตและแรงหนุนจากนโยบาย Saudi Vision 2030 จะสร้างโอกาสแก่ผู้ประกอบการ 3 ด้านหลัก ได้แก่
นายฉมาดนัย มากนวล ผู้อำนวยการฝ่าย Business Risk and Macro Research ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า สัมพันธภาพที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างไทยและซาอุดิอาระเบีย เป็นปัจจัยเสริมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ทั้งสองประเทศ โดยการส่งออกสินค้าของไทยไปซาอุดิอาระเบียและจำนวนนักท่องเที่ยวจากซาอุดิอาระเบีย กลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดดหลังฟื้นความสัมพันธ์ ขณะที่ภาครัฐและภาคเอกชนได้กระชับความร่วมมือทางธุรกิจ หนุนเศรษฐกิจไทยให้มีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากแผนปฏิรูปประเทศของซาอุดิอาระเบีย หรือ Saudi Vision 2030 ที่มีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าจีดีพีเป็น 2 เท่า ภายในปี 2573 (เทียบจากปี 2559) ปัจจัยหลักมาจากการลงทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน (Non-oil economy) มูลค่ากว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่วยสร้างงานใหม่ถึง 6 ล้านตำแหน่ง ถือเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง เป็นโอกาสสำหรับการส่งออกสินค้า และการดึงดูดนักท่องเที่ยวซาอุดิอาระเบียมาไทย