นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทำการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ และให้รายงานผลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมิลาน ประเทศอิตาลี ถึงแนวโน้มตลาดสินค้าสิ่งทอ ในตลาดอิตาลี และโอกาสในการส่งออกสินค้าสิ่งทอไทยเข้าสู่ตลาด
ทั้งนี้สิ่งที่ต้องติดตามประเด็นเศรษฐกิจมหภาค และการเมืองในภูมิภาคของประเทศคู่ส่งออกอย่างใกล้ชิด และวางแผนรับมือกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2566 และต้องคอยติดตามนโยบายภาษีและกฎระเบียบของสหภาพยุโรปที่มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ที่มีผลต่อการกำหนดมาตรฐานของสินค้า
รวมทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่ขณะนี้ช่องทางออนไลน์ยังคงมีความสำคัญ และเป็นช่องทางที่ดำเนินการได้จากต่างประเทศ ผู้ประกอบการต้องกระจายช่องทางการขายออนไลน์ เพื่อรักษาประสิทธิภาพและสัดส่วนตลาดต้องมีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ด้านการใช้สื่อดิจิทัลเพื่อดึงดูดลูกค้า
ขณะเดียวกัน ยังพบว่า บริษัทแฟชั่นในอิตาลีต้องเผชิญกับความท้าทายความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ ซึ่งส่งผลเสียต่อทั้งความต้องการของผู้บริโภค และต้นทุนการดำเนินงานของแบรนด์โดยผู้บริโภคกำลังปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เนื่องจากหลายคนเลือกสินค้าที่ถูกกว่าหรือมีส่วนลดเพื่อลดการใช้จ่าย แม้ว่าภาคสินค้าฟุ่มเฟือยจะยังคงแข็งแกร่ง เพราะผู้บริโภคที่ร่ำรวยไม่ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะเงินเฟ้อ จึงจำเป็นต้องรู้จักกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน และผลิตสินค้าที่ตรงกับความต้องการ
นอกจากนี้ ผลการสำรวจตลาด ยังพบว่าผู้บริโภคตระหนักถึงกระแสนิยมที่ทั่วโลกกำลังรณรงค์ในเรื่องของแทรนด์สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน โดยผู้ประกอบการต้องมีข้อพิสูจน์หรือตรารับรองมาตฐานที่น่าเชื่อถือ และเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคจะช่วยให้สินค้าได้รับความสนใจและทำการตลาดได้ดีขึ้น
สำหรับโอกาสของผู้ประกอบการของไทย เนื่องจากไทยมีวัตถุดิบไหมคุณภาพยอดเยี่ยม สามารถใช้โอกาสนี้ในการส่งออกวัตถุดิบผ้าไหม เพราะอิตาลีเป็นประเทศที่ไม่มีวัตถุดิบไหม ต้องนำเข้าทั้งหมด และเนื่องจากอิตาลีมีอุตสาหกรรมการแปรรูปและผลิตสินค้าผ้าไหมที่ใช้นวัตกรรมสูง ทำให้ผ้าไหมมีให้ผิวสัมผัสนุ่มนวลและพริ้วที่สุด
ดังนั้น การศึกษาตัวอย่างนวัตกรรมและการตลาดของอิตาลีหรือการหาโอกาสในการแลกเปลี่ยนทักษะ ด้วยการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ และนำไปพัฒนาอุตสาหกรรมโดยรวม จะช่วยให้การเจาะตลาดในอิตาลีทำได้ดีขึ้น และสามารถยกระดับให้ผ้าไหมไทยมีความเป็นสากลและเหมาะกับตลาดต่างประเทศมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการต้องติดตามเรื่องร่างกฎระเบียบ Ecodesign ของสหภาพยุโรป (Ecodesign regulation) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาเป็นกฎหมาย ภายใต้นโยบาย European Green Deal โดยกฎหมายฉบับนี้จะกำหนดเฉพาะสินค้า (Product-specific.rules) และกฎสำหรับกลุ่มสินค้าที่มีลักษณะร่วมกัน (Rules for groups of products with common characteristics) เพื่อทำให้มั่นใจว่าสินค้าที่วางจำหน่ายในตลาดสหภาพยุโรปจะมีความยั่งยืนยิ่งขึ้น โดยขอบเขตสินค้า นอกจากจะเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานแล้ว
ยังรวมถึงสินค้าอื่น ๆ อาทิ เช่น สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ ที่นอน ยางรถ ผงซักฟอก สี สารหล่อลื่น เหล็ก เหล็กกล้า อะลูมิเนียม เป็นต้น โดยสินค้าที่จะวางจำหน่ายในตลาดสหภาพยุโรปเหล่านี้ จะต้องมีเงื่อนไขในการออกแบบเพิ่มเติม เช่น ความคงทน ความน่าเชื่อถือ การนำกลับมาใช้ การอัปเกรด การซ่อมบำรุงที่นำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ ส่วนประกอบรีไซเคิล การผลิตใหม่และรีไซเคิลรอยเท้าคาร์บอนและสิ่งแวดล้อมประหยัดปริมาณการใช้น้ำ เป็นต้น