นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึง แนวโน้มการส่งออกในช่วงไตรมาส 3 และ 4 น่าจะดีขึ้น หลังจากติดลบมาตลอดในช่วงก่อนหน้านี้ และจะช่วยให้การส่งออกภาพรวมดีขึ้นมาเป็นบวกได้ 1-2% ตามเป้าทำงานที่ตั้งไว้ โดยปัจจัยที่จะสนับสนุนการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง มาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจคู่ค้า ที่ธนาคารโลกมีการประเมินใหม่เพิ่มขึ้น
เช่น สหรัฐฯ บวก 1.1% สหภาพยุโรป บวก 0.4% และจีน บวก 5.6% เป็นต้น ค่าเงินบาทอ่อนค่าอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ และกระทรวงพาณิชย์มีแผนในการขยายตลาดเจาะ 7 ภูมิภาค
และเจาะเป็นรายคลัสเตอร์ ซึ่งจะนำร่องกลุ่มอาหารและผลไม้ไปจีนตอนใต้ คือ ยูนนาน และหนานหนิง รวมทั้งจะบุกเจาะตลาดใหม่ ที่มีศักยภาพ เช่น กลุ่ม CIS คาซัคสถานและประเทศใกล้เคียง
โดยตลาดส่งออกสำคัญๆอย่าง ตลาดหลักยังคงติดลบ 6% ซึ่งมีสาเหตุมาจากการลดลงของตลาดจีน 24% ญี่ปุ่น 1.8% CLMV 17.3% แต่สหรัฐฯ อาเซียน 5 ประเทศ ส่วนตลาดที่ยังคงขยายตัวเป็นบวกเช่นสหภาพยุโรป เพิ่ม 4.2% 0.1% และ 9.5%
ขณะที่ตลาดรองติดลบ4.5% โดยหดตัวในตลาดเอเชียใต้ 25.2% และลาตินอเมริกา 7% แต่ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 11.4% ตะวันออกกลาง เพิ่ม 11.2% แอฟริกา เพิ่ม 7.9% รัสเซียและกลุ่ม CIS เพิ่ม 97.7% และสหราชอาณาจักร เพิ่ม 5.9% ส่วนตลาดอื่น ๆ เพิ่ม 226% เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 330.2%
ส่งผลให้การส่งออก เดือน พ.ค.2566 ดีกว่าที่หลายสำนักคาดการณ์ไว้ เดิมคาด 23,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการส่งออกเดือนพ.ค.2566 มีมูลค่า 24,340.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐติดลบ 4.6% ตัวเลขดีขึ้นจากเดือน เม.ย.2566 ที่ติดลบ 7.6% การนำเข้ามีมูลค่า 26,190.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 3.4% ขาดดุลการค้ามูลค่า 1,849.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวมการส่งออก 5 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่า 116,344.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 5.1% นำเข้ามูลค่า 122,709.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 2.5% ขาดดุลการค้า มูลค่า 6,365.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การส่งออกเดือน พ.ค.2566 ที่ลดลง 4.6% เป็นการส่งออกติดลบต่อเนื่องมาเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือน ต.ค.2565 ที่ลดลง 4.4% พ.ย.2565 ลด 6% ธ.ค.2565 ลด 14.6% ม.ค.2566 ลด 4.5% ก.พ.2566 ลด 4.7% มี.ค.ลด 4.2% เม.ย.2566 ลด 7.6%
ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.)กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออก เดือน พ.ค.2566 ดีกว่าที่หลายสำนักคาดการณ์ไว้ เดิมคาด 23,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และแม้การส่งออกไทยจะยังติดลบ
แต่ก็ติดลบน้อยกว่าประเทศอื่น และที่เหลืออีก 7 เดือน หากส่งออกได้เดือนละ 24,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป้าทั้งปีจะอยู่ที่ 0% แต่ถ้าร่วมมือกับทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่ขณะนี้มีการทำกลยุทธ์บุกตลาด 7 ภูมิภาค และรายคลัสเตอร์ จะช่วยให้ส่งออกทั้งปีเป็นบวกได้ ตัวเลข 1-2% เป็นไปได้