การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จากปรากฏการณ์เอลนีโญ กำลังส่งผลกระทบต่อคลองปานามา ซึ่งเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าสำคัญของโลกอย่างหนัก มีรายงานว่าปัจจุบันระดับน้ำในคลองปานามาได้ลดลงไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับการเดินทางของเรือสินค้าขนาดใหญ่ ส่งผลให้หน่วยควบคุมการเดินเรือคลองปานามา (เอซีพี) ประกาศใช้ข้อจำกัดเพื่อลดน้ำหนักเรือขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบ ผลกระทบดังกล่าว กำลังสร้างความวิตกกังวลต่อผู้ประกอบการของไทยที่จะส่งสินค้าผ่านคลองปานามา ด้วยข้อจำกัดของการส่งสินค้าที่มีปริมาณลดลงและต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย และ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าผลกระทบจากเอลนีโญที่ส่งผลกระทบต่อเส้นทางเดินเรือสินค้าในคลองปานามา ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรการค้าที่มีเรือแล่นผ่านมากที่สุดในโลก โดยตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2566 เป็นต้นมา คลองปานามา ได้จำกัดความลึกของเรือขนส่งสินค้าไว้ที่ 43.3 ฟุต (13.3 เมตร) จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 44 ฟุต
ล่าสุดมีแผนที่จะลดระดับความลึกของเรือที่จะแล่นผ่าน จาก 15.24 เมตร เหลือ 13.41 เมตร ทำให้เรือขนส่งสินค้าจำนวนมากต้องลดความจุลงประมาณ 40% และเพิ่มจำนวนเรือขนส่งให้มากขึ้นเพื่อการกระจาย น้ำหนัก และจะลดเพิ่มเติมอีกในเดือนกรกฎาคม 2566 ซึ่งจะทำให้เรือขนส่งต้องปรับลดปริมาณสินค้าที่บรรทุก และจะส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ มีรายงานว่า บริษัทเดินเรือหลายแห่งที่เดินเรือผ่านคลองปานามา ได้ปรับราคาขนส่งสินค้าขึ้นแล้ว เนื่องจากคลองปานามา เป็นช่องทางพิเศษ ที่ช่วยลดระยะเวลาในการขนส่งทางเรือ ระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งตามปกติแล้วค่าธรรมเนียมในการผ่านคลองปานามา จะถูกเก็บโดยสายการเดินเรือ หากแต่ในช่วงตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ทั่วโลกต้องเจอกับภัยแล้ง ส่งผลให้แหล่งน้ำที่เป็นต้นน้ำของคลองปานามาได้รับผลกระทบ หลายสายการเดินเรือ จึงต้องทำการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนโลจิสติกส์ที่สูงขึ้น และกระตุ้นให้ราคาวัตถุดิบที่ไทยนำเข้าสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการส่งออกของไทย
“เอกชนติดตามสถานการณ์การขนส่งที่ผ่านคลองปานามา เพื่อใช้ในการวางแผนการขนส่งอย่างใกล้ชิด หลายประเทศรวมถึงไทยกำลังมองหาเส้นทางอื่นในการขนส่งสินค้า กรณีไทยที่ขนส่งผ่านทางคลองปานามาไปยังฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา สามารถไปทางฝั่งคลองสุเอซ หรือเข้าทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกาได้ จึงเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง ผลกระทบจึงยังไม่มากนัก”
สำหรับสินค้าส่งออกของไทยไปสหรัฐ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์ และไดโอด เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ อื่นๆ อัญมณีและ เครื่องประดับ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็กและผลิตภัณฑ์รถยนต์และส่วนประกอบ ผลไม้กระป๋อง และแปรรูป ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน อาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
ส่วนสินค้านำเข้าของไทยจากสหรัฐ เช่น น้ำมันดิบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์เครื่องจักรไฟฟ้าและ ส่วนประกอบ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์อุปกรณ์ยานยนต์เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ เครื่องบิน และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม สินแร่โลหะอื่นๆ และผลิตภัณฑ์เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และ ส่วนประกอบ ยานพาหนะอื่นๆ เชื้อเพลิง อื่นๆ เหล็ก และผลิตภัณฑ์ด้ายและเส้นใย สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง เป็นต้น
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการภัยแล้งจากปรากฎการณ์เอลนิโญ ทำให้น้ำในคลองปานาแห้งลงนั้น คงไม่ส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าของไทยมากนัก เพราะไทยขนส่งสินค้าผ่านคลองปานามาน้อยมากไม่ถึง 5% ประกอบกับค่าระวางเรือถูกลงทำให้การขนส่งสินค้ามีทางเลือกหลายทาง แต่สิ่งที่กังวลคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาที่ยังไม่ฟื้นตัวดี แต่หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวมั่นใจว่า การส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จะกลับมาเป็นบวก และจะช่วยดันภาพรวมการส่งออกไทยขยายตัวได้
ทั้งนี้ ตัวเลขการส่งออก เดือน พฤษภาคม 2566 ดีกว่าที่หลายสำนักคาดการณ์ไว้ เดิมคาด 23,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการส่งออกเดือนพ.ค.2566 มีมูลค่า 24,340.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐติดลบ 4.6% ตัวเลขดีขึ้นจากเดือนเมษายน 2566 ที่ติดลบ 7.6% การนำเข้ามีมูลค่า 26,190.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 3.4% ขาดดุลการค้ามูลค่า 1,849.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวมการส่งออก 5 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่า 116,344.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 5.1% นำเข้ามูลค่า 122,709.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 2.5% ขาดดุลการค้า มูลค่า 6,365.3 ล้านเหรียญสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม แม้การส่งออกไทยจะยังติดลบ แต่ยังติดลบน้อยกว่าประเทศอื่น และที่เหลืออีก 7 เดือน หากส่งออกได้เดือนละ 24,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป้าหมายทั้งปีจะอยู่ที่ 0% แต่ถ้าร่วมมือกันทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่ขณะนี้มีการทำกลยุทธ์บุกตลาด 7 ภูมิภาค และรายคลัสเตอร์ จะช่วยให้ส่งออกทั้งปีเป็นบวกได้ ซึ่งตัวเลขขยายตัวที่ 1-2% เป็นไปได้
ทั้งนี้ คลองปานามามีเรือสินค้าสัญจร 13,000-14,000 ลำในแต่ละปี โดยเฉลี่ย 35-40 ลำต่อวัน และเมื่อนับจากช่วงแรกที่เปิดใช้งาน น้ำหนักการขนส่งสินค้ารวมก็ทวีคูณมากขึ้นเรื่อยๆ จากน้ำหนัก 80 ล้านตันในปี 2477 เป็น 340.8 ล้านตันในปี 2558 ซึ่งปัญหาระดับน้ำในคลองปานามาอาจกระทบต่อการขนส่งระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ราว 40% ของการขนส่งสินค้าทางเรือทั้งหมดต้องเดินทางผ่านคลองปานามา หรือคิดเป็นมูลค่า 2.70 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี โดยในปีงบประมาณ 2565 มีเรือมากกว่า 14,000 ลำ บรรทุกสินค้ากว่า 518 ล้านตันผ่านคลอง ทำให้มีรายได้กว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์