นายพิสิษฏ์ พิพัฒน์วิไลกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด กล่าวถึง โครงการนิคมอุตสาหกรรม อุดรธานี ว่า เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ลงทุนของเอกชน ด้วยมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท บนพื้นที่กว่า 2,100 ไร่ ภายใต้การดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รองรับตลาดจีน ญี่ปุ่น เกาหลี กลุ่มประเทศอาเซี่ยน และประเทศในยุโรป โดยเป้าหมายหลักอยู่ที่ตลาดประเทศจีน เพราะมีเป็นตลาดใหญ่ มีกำลังซื้อสูง
สำหรับความคืบหน้าของโครงการในระยะที่ 1 สิ่งอำนวยความสะดวกภายในโครงการมีความพร้อมทุกส่วน สามารถรองรับนักลงทุนผู้ประกอบการแล้ว อาทิ ระบบไฟฟ้า ประปา ศูนย์บริการแบบวันสต๊อปเซอร์วิส รวมทั้งระบบโลจิสติกส์แบบครบวงจร คลังสินค้าขนาดใหญ่ ลาน CY และกำลังก่อสร้างรถไฟเชื่อมเข้าในพื้นที่ท่าเรือบก (ICD) ของนิคมฯ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า
ล่าสุด คณะกรรมการ กนอ. อนุมัติให้โครงการจัดตั้งเขตประกอบการเสรี (Free Trade Zone) บนพื้นที่ 267 ไร่เศษ ภายในโครงการ เพื่อเป็นพื้นที่ศูนย์กลางที่พักสินค้า-กระจายสินค้า เพื่อการส่งออกสินค้า ไปสู่ตลาดผ่านทางรถไฟจีน-ลาว เนื่องจากตลาดจีนมีกำลังซื้อสูงโดยเฉพาะสินค้าการเกษตร ผลไม้
ก่อนหน้านี้มีมติคณะรัฐมนตรี ชุดรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 79 ล้านบาท ให้ รฟท.ทำการก่อสร้างรางรถไฟจากสถานีหนองตะไก้ ต.โนนสูง อ.เมืองอุดรธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ของ รฟท. ให้เชื่อมต่อกับโครงการ และพื้นที่เขตประกอบการเสรี เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี โดยเน้นเป็นนิคมอุตสาหกรรมรองรับการผลิตอุตสาหกรรมสีเขียวอย่างแท้จริง ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมสอดคล้องนโยบายลดโลกร้อน คือ อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน หรือ BCG Industrial Model
ส่วนการทำตลาดของโครงการฯมีเป้าหมายทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยมีตลาดประเทศจีนเป็นหลัก เนื่องจากเป็นตลาดขนาดใหญ่ และตลาดประเทศญี่ปุ่น เกาหลีและประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประเทศอาเซี่ยน
เนื่องจากนิคมฯอุดรธานี เป็นนิคมร่วมดำเนินงานกับ กนอ. จึงได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษและได้รับการสนับสนุนทุกด้านจากภาครัฐ และ BOI ประเภทต่างๆ ต้องดำเนินการทั้งการเชิญชวน ประชาสัมพันธ์ถึงสิทธิที่นักลงทุนจะได้รับในการเข้ามาลงทุนในโครงการ เพื่อให้เกิดแรงจูงใจของนักลงทุน เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมโรดโชว์ ไปกับการนิคมฯ และ BOI ในประเทศเป้าหมาย และดำเนินกิจกรรม Business Matching ที่ผ่านมา
นายพิสิษฏ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการร่วมกระทรวงพาณิชย์ที่นครคุนหมิง ซึ่งปัจจุบันมีนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ คือจากประเทศเดนมาร์ก จีน บริษัท CP ผู้ประกอบการสินค้าไอครีม ทำสัญญาลงทุนกับโครงการแล้ว และเพื่อให้มีการลงทุน SMEs ทางโครงการได้จัดพื้นที่ส่วนหนึ่งเพื่อก่อสร้างโรงงานสำหรับนักลงทุน SMEs เพื่อ สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs
นอกจากนี้ทางโครงการได้รับปรับเปลี่ยนแปลงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของคลัสเตอร์เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) ประกอบด้วย 4 จังหวัด มีหนองคาย อุดรธานี ขอนแก่น และโคราช
ส่วนสถานการณ์การลงทุนของไทยว่า ประเทศ ไทยถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพในเรื่องตำแหน่งที่ตั้ง สามารถเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก อยู่บนเส้นทาง BRI ของจีน รวมทั้งการมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ จึงเป็นเป้าหมายสำคัญในการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ที่ต้องการย้ายฐานมายังประเทศไทย
พร้อมแสดงความกังวลถึงการแข่งขันการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่รอบประเทศไทย และนโยบายสิทธิพิเศษ เป็นปัจจัยให้กับนักลงทุน ที่เข้าไปลงทุนในในแต่ละประเทศมากมายที่เป็นเหตุเกิดแรงจูงใจ ในลักษณะทั้งแจก ทั้งแถม เป็นเหตุให้มีการย้ายฐานผลิตจากประเทศไทยไปลงทุนในประเทศเหล่านั้น
โดยเฉพาะนโยบายความร่วมมือพัฒนาการขนส่งทางรถไฟของจีน-ลาว-เวียดนามต่อจากเวียงจันทน์ ไปยังแขวงบ่อลิคำไซ เลี้ยวซ้ายไปยังที่ท่าเรือนํ้าลึกว๋งอ๋าง เมืองฮาตินห์ เวียดนาม ใช้เวลาก่อสร้างเพียง 4 ปี จะกระเทือนต่อการลงทุนขนส่งต่อไทยมาก
หากโครงการดังกล่าวสำเร็จ การขนส่งในภูมิภาคนี้ จะหันไปใช้ เส้นทางดังกล่าวออกสู่ทะเลจีนใต้ที่มีระยะทางสั้นกว่าที่ใช้เส้นทางลงไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ในทางกลับกันภาคอีสานและประเทศไทยบางส่วน จะต้องไปอาศัยเส้นทางดังกล่าวเพื่อขนส่งสินค้าแทน โดยผ่านทางสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-แขวงบ่อลิคำไซ ไปเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟ เพราะจะประหยัดเวลา ต้นทุนค่าส่ง ไม่ต้องใช้เส้นทางขนส่งอ้อมผ่าน แหลมญวน
“ขอฝากไปยังทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบเป็นข้อคิด ช่วยดูแลความเป็นไปได้และความเหมาะสม เพื่อให้เกิดแรงจูงใจดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อให้เกิดการลงทุน กระจายการลงทุน แรงงาน รายได้ ออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ตามที่รัฐบาลต้องการ” นายพิสิษฏ์ กล่าว
ยงยุทธ ขาวโกมล : รายงาน