ภาพรวมไตรมาสที่ 1/2566 คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 397 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 โดยมีมูลค่าเงินลงทุน 185,730 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 77 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลให้การส่งเสริม ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป เคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ตามลำดับ โดยขอรับการส่งเสริม 205 โครงการ มูลค่ารวม 154,414 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 83 ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมในภาพรวม
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ตัวเลขการขอรับการส่งเสริมในไตรมาสแรกที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เป็นผลจากสถานการณ์โควิดเริ่มผ่อนคลาย ประเทศผู้ลงทุนหลักกลับมาเปิดประเทศ โดยเฉพาะจีนได้เปิดประเทศตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ทำให้นักธุรกิจเดินทางไปมาสะดวกและตัดสินใจลงทุนได้เร็วขึ้น
จีนขน 10 คณะใหญ่ดูลู่ทาง
เห็นได้จากช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีนักธุรกิจจากจีนชุดใหญ่เดินทางมาเยือนไทยมากกว่า 10 คณะเพื่อดูลู่ทางการลงทุน โดยมีแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตเพื่อลดความเสี่ยงจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ-จีน จีน-ไต้หวัน ทำให้นักลงทุนมองหาแหล่งลงทุนที่มีความมั่นคง ปลอดภัย ความเสี่ยงต่ำ
โดยประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อมในการเป็นศูนย์กลาง(ฮับ)ของภูมิภาค และไทยเป็นพันธมิตรกับทุกประเทศ หลายคนเรียกไทยว่าเป็น Conflict-free-Zone หรือ “เซฟโซน” สำหรับธุรกิจ และเลือกไทยเป็นฐานการผลิต โดยไตรมาสแรกปีนี้จีนขอรับการส่งเสริมลงทุนแล้ว 38 โครงการเงินลงทุน 25,001 ล้านบาท
“แนวโน้มการขอรับการส่งเสริมในไตรมาสที่ 2 นักลงทุนยังให้ความสนใจมาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะกลุ่ม PCB, Smart Devices รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ระบบอัจฉริยะ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดกิจกรรมเชิงรุกของบีโอไอในการเจาะกลุ่มนักลงทุนเป้าหมายในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ทั้งการโรดโชว์ที่ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน และเกาหลีใต้ โดยเน้นดึงการลงทุนแบบมุ่งเป้า ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล”
ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังโควิด และปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์จะยังคงเป็นแรงผลักดันที่สำคัญให้เกิดการเคลื่อนย้ายการลงทุนระหว่างประเทศครั้งใหญ่อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 2 เดือนข้างหน้า บีโอไอมีแผนร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรเดินทางไปจัดสัมมนาใหญ่และเจาะกลุ่มเป้าหมายเพื่อดึงการลงทุนที่ประเทศจีนอีกครั้ง โดยครั้งนี้จะไปทางฝั่งตะวันตก (นครฉงชิ่งและเฉิงตู) รวมทั้งภูมิภาคยุโรป เช่น เยอรมนี และฝรั่งเศส เป็นต้น
นอกจากนี้จะจัดกิจกรรมเดินสายพบผู้ประกอบการในประเทศ โดยในวันที่ 15 มิถุนายนนี้จะมีการจัดสัมมนาใหญ่เพื่อเผยแพร่ยุทธศาสตร์และมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ที่ภาคอีสาน(ที่นครราชสีมา) ต่อเนื่องจากที่ได้จัดที่ภาคตะวันออกและภาคเหนือมาแล้ว ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดจะช่วยรักษาโมเมนตัมของการลงทุนในไทย และคาดจะช่วยให้การขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2566 จะมีมูลค่าเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5-6 แสนล้านบาทตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้
ยันเปลี่ยนรัฐบาลไม่กระทบ
เลขาธิการบีโอไอให้ความเห็นถึงช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง และยังไม่มีความชัดเจนของรัฐบาลชุดใหม่ จะส่งผลทำให้นักลงทุนไทยและต่างชาติขาดความเชื่อมั่น และชะลอการตัดสินใจขอรับการส่งเสริม หรือชะลอการลงทุนหรือไม่นั้น ในเรื่องนี้จากที่ได้เดินทางไปโรดโชว์หรือพบปะนักลงทุนที่มาเยือนไทย ก็มีคำถามเรื่องการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลใหม่อยู่บ้าง
“เรื่องนี้ทางบีโอไอได้ชี้แจงไปว่าประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนมาต่อเนื่องกว่า 50 ปี ทุกรัฐบาลล้วนมีนโยบายต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ และสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของภูมิภาค รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายต่าง ๆ ที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ หากจะมีการปรับเปลี่ยนมาตรการบ้าง ก็คงจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และไม่กระทบต่อการลงทุนของภาคเอกชน”
ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าจากนโยบายที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง EV, BCG, Digital Transformation รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่พิเศษในภาคต่าง ๆ เช่น EEC และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค จะมีความต่อเนื่อง และเท่าที่ดูนโยบายพรรคต่าง ๆ ล้วนสนับสนุนในเรื่องเหล่านี้ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่เข้าใจดีว่าการเปลี่ยนผ่านของรัฐบาลเป็นเรื่องปกติ และยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพระยะยาวของประเทศไทย
“การตัดสินใจลงทุนของภาคอุตสาหกรรมนั้นจะแตกต่างจากการลงทุนในหลักทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ หรือการทำการค้า โดยการลงทุนจะมองภาพระยะยะยาว เนื่องจากเมื่อลงทุนจัดตั้งโรงงานหรือสถานประกอบการแล้ว ไม่ใช่จะย้ายหรือถอนกันง่าย ๆ นักลงทุนจึงมักพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานของประเทศเป็นหลัก มากกกว่าจะมองเหตุการณ์ระยะสั้น ๆ” นายนฤตม์ กล่าว
ดังนั้นการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในช่วงนี้ แม้จะยังไม่มีความแน่นอนอยู่บ้างแต่ก็มีกรอบเวลาที่ค่อนข้างชัดเจน และเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นแล้วเชื่อว่ามาตรการด้านเศรษฐกิจและการลงทุนจะเป็นวาระแรก ๆ ที่รัฐบาลใหม่จะช่วยผลักดันให้เกิดความเชื่อมั่นกับนักลงทุนในระยะยาวได้
ดัน 7 ภารกิจสำคัญใน 1 ปีข้างหน้า
สำหรับภารกิจสำคัญที่บีโอไอจะเน้นเป็นพิเศษในช่วง 1 ปีข้างหน้ามี 7 เรื่อง 1.เน้นดึงการลงทุนใน 5 อุตสาหกรรมที่มุ่งเป้าให้ไทยเป็นผู้นำในภูมิภาค ได้แก่ BCG, EV, สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์, ดิจิทัล และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 2.ผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ โดยดึงบริษัทชั้นนำเข้ามาจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค 3.เร่งเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไปสู่ “Smart and Sustainable Industry” ใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย ใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ หรือเทคโนโลยีดิจิทัลยกระดับกิจการ ใช้เครื่องจักรประหยัดพลังงานหรือพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น
4.ทำให้เกิดการกระจายการลงทุนตามศักยภาพของพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาสและการเติบโตอย่างทั่วถึง 5.ส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการช่วยพัฒนาบุคลากร พัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และพัฒนาชุมชน 6.ส่งเสริมกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ เข้าไปอยู่ใน Global Supply Chain ของบริษัทชั้นนำ และ 7.พัฒนาระบบนิเวศของการลงทุน ทั้งการเตรียมพร้อมด้านบุคลากร การจัดหาพลังงานสะอาด การปรับปรุงกฎระเบียบและขั้นตอนของราชการให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้ไทยมีขีดความสามารถในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
จี้เร่งตั้งรัฐบาลสร้างเชื่อมั่น
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต่างชาติเข้าใจถึงบริบททางการเมืองของไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ที่ผ่านมาประเทศไทยมีเสน่ห์ในการดึงการลงทุนจากต่างประเทศอยู่แล้ว ดังนั้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้คงอยู่กับประเทศไทย ความจำเป็นเร่งด่วนในขณะนี้คือการเร่งจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้สำเร็จตามไทม์ไลน์ที่วางไว้เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติมีความมั่นใจว่ารัฐบาลใหม่เป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ
“ทางหอการค้าไทยได้ย้ำให้คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่นำคณะมาพบกับผู้บริหารของหอการค้าไทยเมื่อวันก่อนว่า ขอให้มีความชัดเจนในเรื่องนโยบายส่งเสริมการลงทุน เช่น EEC ว่าทำต่อแน่นอนอย่างนี้เป็นต้น จากเวลานี้ชาวต่างชาติลังเลที่จะมาลงทุนในไทย เนื่องจากมีความกังวลว่านโยบายค่าแรง 450 บาทจะทำทันทีหรือไม่ ค่าไฟฟ้าซึ่งเป็นหนึ่งในต้นทุนสำคัญ ไทยยังสูงกว่าเพื่อนบ้าน นโยบายและสิทธิประโยชน์การลงทุนเป็นอีกเรื่องสำคัญที่เขาจะใช้ในการพิจารณาตัดสินใจลงทุน”
กกร.ชี้ไทยเป้าหมายลงทุนโลก
ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ด้านการลงทุน อีกเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เวลานี้ไทยมีโอกาสในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามามากขึ้น จากอานิสงส์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่ส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิต โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายของนักลงทุนทั่วโลก
ดังนั้นภาครัฐต้องเตรียมพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับ เฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปกฎหมาย หรือกฎระเบียบเพื่อยกระดับในการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ใหม่ ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนไทยในไทยเพิ่มขึ้น
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3895 วันที่ 11 -14 มิถุนายน พ.ศ. 2566