บริษัทญี่ปุ่นมองบวกเศรษฐกิจไทย 30%คาดลงทุนเพิ่มในปีนี้ 

04 ก.ค. 2566 | 07:06 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ค. 2566 | 07:33 น.

ในการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยครึ่งแรกของปี 2566 จัดทำโดยหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCCB) พบว่า 30% ของบริษัทญี่ปุ่นคาดจะลงทุนเพิ่มในปีนี้ และในสัดส่วนเดียวกันคาดว่าจะส่งออกได้มากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

 

จาก ผลสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจ ของ บริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ครึ่งแรกของปี 2566 จัดทำโดย หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCCB) แถลงเมื่อปลายเดือนมิ.ย.โดย นายคุโรดะ จุน ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ)ในฐานะหัวหน้าคณะผู้จัดทำการสำรวจครั้งนี้ พบว่า บริษัทญี่ปุ่นยังมีความมั่นใจเกี่ยวกับการลงทุนในประเทศไทย โดยในบริษัทที่ตอบกลับแบบสอบถามการสำรวจ 512 ราย มีบริษัทที่ตอบว่าจะ “ลงทุนเพิ่มขึ้น” ด้านโรงงานและเครื่องจักรในปีพ.ศ.2566 นี้ คิดเป็นสัดส่วน 30%

ขณะที่41% ตอบว่าจะ “ลงทุนคงที่” และมีเพียง 13% ที่คาดว่าจะ“ลงทุนลดลง”
30% มองครึ่งปีหลังส่งออกเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทญี่ปุ่นยังมีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับแนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 (กรกฎาคมถึงธันวาคม)โดยบริษัทที่คาดว่า การส่งออกจะ “เพิ่มขึ้น” ในช่วงครึ่งหลังของปีพ.ศ.2566 มีสัดส่วนถึง 30%

นายคุโรดะ จุน ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ)

ขณะที่ 46% ของบริษัทที่ตอบคำถามการสำรวจ คาดว่าการส่งออกจะ“คงที่”ส่วนที่คาดว่า การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจะ“ลดลง”นั้น มีเพียง 24% เท่านั้น

สำหรับตลาดส่งออกที่พวกเขามองว่ามีศักยภาพในอนาคต ได้แก่ เวียดนาม (46%) มาเป็นอันดับ 1 ตามด้วยอินเดีย (40%) อินโดนีเซีย(31%) และญี่ปุ่น (18%) ตามลำดับ

ทั้งนี้ นายคุโรดะ จุน เปิดเผยต่อไปว่า บริษัทญี่ปุ่นได้สะท้อนถึง "ปัญหา" ด้านการบริหารองค์กรที่พวกเขาได้พบเจอ พบว่าประเด็นการแข่งขันกับบริษัทอื่นที่รุนแรงขึ้น (63%) เป็นปัญหามากที่สุด(มาเป็นอันดับหนึ่ง)
รองลงมาได้แก่

  • ราคาวัตถุดิบและชิ้นส่วนเพิ่มสูงขึ้น(59%)
  • ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเพิ่มสูงขึ้น(45%)
  • และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน(31%)

นอกจากนี้ บริษัทในอุตสาหกรรมการผลิตยังระบุปัญหาด้านต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น(48%)และความเปลี่ยนแปลงด้านความต้องการสินค้าและความต้องการของผู้ใช้ (26%) ก็เป็นประเด็นปัญหาที่พวกเขาประสบอยู่

เมื่อถามว่า พวกเขามีข้อเรียกร้องใดๆ ที่ต้องการเสนอต่อรัฐบาลไทยหรือไม่ บริษัทญี่ปุ่นระบุว่า พวกเขามีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย ดังนี้คือ  

  • ประการแรก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง (34%) เป็นประเด็นที่บริษัทต่างๆของญี่ปุ่น ต้องการร้องขอต่อรัฐบาลไทย"มากที่สุด"
  • ส่วนประเด็นที่เรียกร้องรองลงมาเป็นอันดับสองและสาม ได้แก่ การบังคับใช้มาตรการเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ(33%)และกฎระเบียบและการบังคับใช้กฎระเบียบเกี่ยวกับภาษีศุลกากรและพิธีการศุลกากร (32%) 

ประเด็นอื่นๆ ที่พวกเขาเรียกร้อง ได้แก่

  • การรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน และการพัฒนาปรับปรุงการบังคับใช้ระบบภาษี เช่น ระบบภาษีเงินได้นิติบุุุคคล(29%)
  • มาตรการแก้ไขปัญหาอุทกภัย (25%)
  • การส่งเสริมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (20%)
  • การผ่อนปรนกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (18%)
  • การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตทำงานและวีซ่า(16%)
  • และการยกระดับ การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (16%)

การสำรวจครั้งล่าสุดนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 พฤษภาคม ถึงวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2566 ซึ่งเป็นช่วงที่ไทยมีการเลือกตั้งทั่วประเทศซึ่งจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แต่บริษัทญี่ปุ่นก็ไม่ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใด 
ทั้งนี้ มีการจัดส่งแบบสำรวจไปยังบริษัทที่เป็นสมาชิก JCCB จำนวน 1,633ราย โดยมีบริษัทที่ตอบกลับ 512 ราย (คิดเป็น 31.4%)