‘เจโทร’ ชู Soft Power ‘อาหารญี่ปุ่น’ ตะลุยขยายแนวรุกบุกตลาดทั่วไทย

24 พ.ย. 2565 | 06:11 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ย. 2565 | 13:45 น.

‘เจโทร’ หนุนใช้วัตถุดิบและอาหารญี่ปุ่น กระตุ้นธุรกิจและขยายการเติบโตของร้านอาหารญี่ปุ่นในไทย โดยเฉพาะการเพิ่มแนวรุกในตลาดต่างจังหวัดที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อีกมาก

 

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น สำนักงานกรุงเทพฯ หรือ เจโทร กรุงเทพฯ เดินหน้าจัดกิจกรรมขยายการค้าในประเทศไทย โดยล่าสุดมีการจัด แคมเปญ “Made in Japan" เพื่อส่งเสริมการใช้วัตถุดิบและส่วนประกอบอาหารที่เป็นของญี่ปุ่นแท้ เชิญชวนคนไทยให้ลิ้มลอง อาหารรสชาติญี่ปุ่น แท้ๆ ผ่านวัตถุดิบที่ส่งตรงจากญี่ปุ่น ถือเป็น Soft Power จากแดนปลาดิบที่คนไทยรู้จักและชื่นชอบมายาวนาน

 

นายคุโรดะ จุน ประธานเจโทร กรุงเทพฯ คนใหม่ เปิดเผยถึงที่มาของแคมเปญนี้ว่า ไทยเป็นประเทศที่นำเข้าวัตถุดิบอาหารจากญี่ปุ่นเป็นอันดับ 7 ของโลก และมีร้านอาหารญี่ปุ่นมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในทวีปเอเชีย ถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก แม้ที่ผ่านมา การส่งออกวัตถุดิบอาหารจากญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบจากมาตการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่มูลค่าการส่งออกจากญี่ปุ่นมาไทยเมื่อปี 2564 ก็มีการฟื้นตัวประมาณ 110% หรือคิดเป็นมูลค่าเกือบๆ 11,000 ล้านบาท และตั้งแต่เดือน ม.ค-ส.ค. ปีนี้ (2565) มียอดส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวมายังประเทศไทยที่ระดับ  8,900 ล้านบาท โดยมีปัจจัยบวกจากเงินเยนอ่อนค่า ที่อาจจะช่วยหนุนการส่งออกให้ขยายตัวได้มากกว่านี้อีก

 

คุโรดะ จุน ประธานเจโทร กรุงเทพฯ (นั่งกลางแถวหน้า) กับตัวแทนของร้านอาหารญี่ปุ่นส่วนหนึ่งที่เข้าร่วมแคมเปญ

 

แคมเปญ “Made in Japan" ซึ่งเริ่มจัดตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2565 ถึงวันที่ 28 ก.พ.ปีหน้า (2566) มุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบและส่วนประกอบอาหารที่เป็นของญี่ปุ่นแท้ ขณะเดียวกันก็เป็นการนำเสนอร้านอาหารญี่ปุ่นชั้นนำ 236 แห่งทั่วไทย แบ่งเป็น

  • ร้านอาหารในกรุงเทพฯ 150 แห่ง
  • ร้านอาหารในต่างจังหวัด 86 แห่ง

 

ทั้งหมดเป็นร้านที่ได้รับเครื่องหมาย “Japanese Food Supporter” เป็นการรับรองคุณภาพความสดใหม่ของวัตถุดิบที่ใช้ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้ลิ้มรสความอร่อยของวัตถุดิบอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่นอย่างแท้จริง

 

ทั้งนี้ จากการสำรวจความเห็นของผู้บริโภคบ่งชี้ว่า คนไทยชอบอาหารญี่ปุ่นเป็นอันดับสอง รองแต่เพียงอาหารไทย ดังสะท้อนจากสถิติที่ว่า มีร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นทุกปีในประเทศไทย โดยในปี 2563 มีร้านอาหารญี่ปุ่นในไทย 4,094 แห่ง พอมาปี 2564 มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 4,370  แห่ง

 

นอกจากนี้ หากคิดเป็นสัดส่วนของร้านอาหารทั้งหมด ปี 2562 มีสัดส่วนร้านอาหารญี่ปุ่น 45.2% ต่อมาในปี 2563 มีสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 52.6%  แสดงให้เห็นว่า ในต่างจังหวัดทุกจังหวัดของไทยมีร้านอาหารเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถือได้ว่าอาหารญี่ปุ่นเริ่มกลายเป็นอาหารในชีวิตประจำวันของคนไทยไปแล้ว

 

  • สถิติของเจโทรชี้ว่า ในปีนี้ (2565) จังหวัดในประเทศไทย ที่มีร้านอาหารญี่ปุ่นมากที่สุด 10 อันดับแรก นั้น ได้แก่
  1. กรุงเทพมหานคร มีร้านอาหารญี่ปุ่น 2,073 แห่ง
  2. นนทบุรี 281 แห่ง
  3. ชลบุรี 259 แห่ง
  4. เชียงใหม่ 190 แห่ง
  5. สมุทรปราการ 139 แห่ง
  6. ปทุมธานี 114 แห่ง
  7. ภูเก็ต 85 แห่ง
  8. นครราชสีมา 80 แห่ง
  9. สงขลา 70 แห่ง
  10. ขอนแก่น 63 แห่ง

 

  • ส่วน ประเภทร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีมากที่สุด 5 อันดับแรกใน “กรุงเทพฯ”  ได้แก่
  1. ร้านประเภทซูชิ
  2. ภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น
  3. ร้านราเมน
  4. ร้านสุกี้/ชาบู
  5. ร้านอิซากายะ (เป็นร้านอาหารสไตล์ญี่ปุ่น ขายเหล้าพร้อมอาหารแบบง่ายๆ เน้นนั่งดื่มและกินกับแกล้มเบาๆ เช่น ไก่ทอด หม้อไฟ ไปจนถึงซูชิและซาชิมิ)    

 

  • แต่ถ้าเป็น ตลาดต่างจังหวัด ประเภทร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
  1. ภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น
  2. ซูชิ
  3. สุกี้/ชาบู
  4. ราเมน
  5. ยากินิกุ/บาร์บีคิว

 

‘เจโทร’ ชู Soft Power ‘อาหารญี่ปุ่น’ ตลุยขยายแนวรุกบุกตลาดทั่วไทย

เจโทรเปิดเผยว่า จากความชื่นชอบอาหารญี่ปุ่นของผู้บริโภคชาวไทยและการขยายตัวของร้านอาหารญี่ปุ่น พบว่า สินค้าวัตถุดิบอาหารที่ส่งออกจากญี่ปุ่นมาไทยมากที่สุด นั้น

  • อันดับหนึ่ง คือ ปลาคัทซึโอะ
  • รองลงมา คือ ปลาซาบะ และ ปลาแซลมอน

 

วัตถุดิบอาหารที่ต้องปรุง ส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังร้านอาหาร ขณะที่ผลไม้จะส่งออกไปจำหน่ายตามร้านค้าปลีก

 

ส่วนอุปสรรคที่พบนั้น คือ องค์กรอาหารและยาของประเทศไทย (อ.ย.) ยังคงจำกัดการนำเข้าสินค้าบางชนิดจากญี่ปุ่น ทำให้วัตถุดิบบางอย่างไม่สามารถนำเข้ามาได้ แต่กระนั้น ก็ยังมีแนวโน้มที่ดีที่ล่าสุด ไทยเปิดตลาดนำเข้าเนื้อหมูจากญี่ปุ่นแล้ว หากในอนาคต ไทยอนุญาตให้นำเข้าสินค้าบางชนิดมากขึ้น คนไทยอาจจะได้ลิ้มรสวัตถุดิบญี่ปุ่นแท้ได้มากขึ้นตามไปด้วย

 

สำหรับ แคมเปญ “Made in Japan" นั้น แม้จะจัดมาตั้งแต่ต้นเดือนพ.ย. แต่ก็ยังจะมีไปจนถึงสิ้นเดือนก.พ.ปีหน้า (28 ก.พ.2566) เจโทรจัดแคมเปญนี้ขึ้น โดยมีเป้าหมาย

  1. อยากให้คนไทยได้ลิ้มรสชาติวัตถุดิบแท้จากญี่ปุ่นมากขึ้น ซึ่งวัตถุดิบญี่ปุ่นที่น่าสนใจของแคมเปญนี้ ได้แก่ หมูญี่ปุ่น เนื้อวัว และอาหารทะเลรวมถึงปลาบูริและปลาซันมะที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมาก ไอไลท์คือ “เนื้อหมูญี่ปุ่นแท้” ที่เจโทรย้ำว่า เป็นเนื้อหมูคุณภาพผ่านการเลี้ยงดูอย่างดี มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ 
  2. อยากให้คนไทยใน "ต่างจังหวัด" มีโอกาสได้ลิ้มลองเมนูอาหารญี่ปุ่นจากวัตถุดิบญี่ปุ่นแท้ จึงขยายขอบเขตแคมเปญให้ครอบคลุมไปยังร้านอาหารญี่ปุ่นในต่างจังหวัดด้วย

 

ทั้งนี้ เจโทรได้ร่วมผนึกกำลังกับร้านอาหารญี่ปุ่นในไทย โดยประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์ อินฟลูเอนเซอร์ และสื่อของร้าน พร้อมเผยแพร่เมนูสุดพิเศษจากร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการ คาดว่าคนไทย 1 คนในทุกๆ 6 คน หรือประมาณ 10 ล้านคน จะเข้าถึงการประชาสัมพันธ์นี้ เพื่อให้ผู้ชื่นชอบอาหารญี่ปุ่นได้รู้จักร้านและหาทานได้สะดวก

 

ตัวอย่างร้านอาหารญี่ปุ่นพร้อมเมนูพิเศษของแต่ละร้านที่เข้าร่วมแคมเปญนี้ อาทิ

  • ร้าน เคนจิ ลาโบ มีเมนูพิเศษปรุงด้วยหอยนางรมส่งตรงจากฮิโรชิมา
  • ร้าน มากุโระ มีหอยเชลล์ฮอกไกโดฃ
  • ร้าน ไมเซน มีหมูคุโรบูตะชั้นเลิศ
  • ร้าน นาเบโซพรีเมียม มีเนื้อโอมิ จากชิงะ
  • ร้าน ฟูกุอินทาวน์ มีปลาซันมะ จากฮอกไกโด
  • ร้าน โอโตยะ มีปลาฮอกเกะ
  • โอชิเน มีเนื้อวากิว จากฮอกไกโด
  • ร้าน ซูชิโร มีเมนูปลามาฮาตะ
  • ร้าน เทปเปน มีเมนูปลาคัทสึโอะ
  • ร้าน โทระซูชิ มีเมนูที่คัดสรรปลาและหอยตามฤดูกาลส่งตรงจากญี่ปุ่น
  • และ ร้าน เซ็น มีเมนูซาชิมิปลาฮามาจิ เป็นต้น

จะเห็นว่าแต่ละร้านมีการนำเสนอเมนูและวัตถุดิบตามฤดูกาลที่แตกต่างกันไปตามสไตล์ร้านอาหารนั้น ๆ

 

ผู้ที่ชื่นชอบอาหารญี่ปุ่นรสชาติแท้ๆ สามารถติดตามเมนูพิเศษและโปรโมชันจากสื่อของร้าน ทั้งสื่อประชาสัมพันธ์ออฟไลน์ที่หน้าร้าน เมนูในร้าน และสื่อประชาสัมพันธ์ทางออนไลน์ ทางเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม