นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 1) ประจำปี 2566 ถึงนโยบายระบบขนส่งมวลชนรอง (Feeder) และศาลาที่พักผู้โดยสารว่า กทม.ได้ตั้งเป้าหมายดำเนินการ 2,000 แห่ง ขณะนี้ได้ดำเนินการจัดทำในรูปแบบ Prototype ออกมาแล้ว ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปีนี้ นอกจากนี้ยังมีการวางแผนในระยะยาวด้วย หากส.ก.มีข้อมูลจุดที่ต้องเริ่มดำเนินการให้ประชาชนสามารถแจ้งได้ และฝ่ายบริหารจะรับไปดำเนินการในทันที
“วันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ได้มีการพูดถึงเส้นเลือดฝอย เช่น พื้นที่ทางเท้า,ทางข้าม สะพานลอย,ระบบขนส่งมวลชนรอง (Feeder) ซึ่งเป็นปัญหาจริงของประชาชนที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข”
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ส่วนรูปแบบป้ายรถเมล์และศาลาที่พักผู้โดยสาร เบื้องต้นได้มอบหมายให้สำนักการจราจรและขนส่ง ดำเนินการออกแบบ ซึ่งมีรูปแบบเป็นศาลาเสาเดี่ยว ที่มีหลายทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่ด้วย รวมถึงมีการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างและข้อมูลรถโดยสารที่จะผ่าน
ทั้งนี้แต่ละจุดจะพิจารณาจากลักษณะพื้นที่เป็นหลักและคำนึงถึงข้อจำกัดในการก่อสร้าง อาทิ ทางเท้าแคบ บดบังอาคารหรือร้านค้า ตลอดจนการติดตั้งระบบสาธารณูปโภค, การเลือกจุดจะดำเนินการโดยคณะกรรมการกำหนดจุดป้ายที่พักผู้โดยสาร ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายส่วน เช่น กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ตำรวจจราจร สำนักงานเขตฯ
รวมถึงข้อมูลประกอบจากส.ก.ในพื้นที่ คาดว่าจะมีศาลาที่พักผู้โดยสารรูปแบบใหม่ จำนวน 302 หลัง ภายในปี 66-67 หลังจากนั้นจะเพิ่มจำนวนศาลาที่พักผู้โดยสารรูปแบบใหม่ประมาณ 476 หลัง ภายในปี 68
สำหรับการประชุมสภากรุงเทพมหานคร ในครั้งนี้ นายยิ่งยงค์ จิตเพียรธรรม ส.ก.เขตทวีวัฒนา ได้เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครสำรวจเพื่อติดตั้งป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางและศาลาที่พักผู้โดยสารให้ครอบคลุม เนื่องจากกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะพื้นที่เขตรอบนอกประชาชนได้รับความลำบากในการใช้บริการรถขนส่งสาธารณะ
ทั้งนี้เพราะถนนบางสายในบางจุดไม่มีป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางหรือมีแต่ระยะห่างกันและบางจุดไม่มีศาลาที่พักผู้โดยสาร ทำให้ผู้เดินทางได้รับความเดือดร้อน ต้องยืนตากแดดตากฝนรอรถโดยสารประจำทาง เช่น กรณีถนนศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา ได้รับความไม่สะดวกในการเดินทางไปทำงานหรือไปสถานที่ต่าง ๆ ถนนบางสายไม่มีรถโดยสารประจำทางผ่าน ทำให้ประชาชนต้องใช้รถยนต์ส่วนบุคคลหรือใช้บริการรถแท็กซี่ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง
ดังนั้น กรุงเทพมหานครจึงควรสำรวจเพื่อติดตั้งป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางและศาลาที่พักผู้โดยสารให้ครอบคลุม รวมถึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจเพื่อพิจารณาให้บริการเส้นทางเดินรถขนส่งสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกและปลอดภัยจากการใช้รถขนส่งสาธารณะ
ขณะที่ภาพรวมการคมนาคมขนส่งของเขตทวีวัฒนา มีถนนสายหลัก สายรอง รถไฟฟ้า โดยถนนแต่ละสายมีทั้งโรงเรียน มหาวิทยาลัยและห้างสรรพสินค้า ยกตัวอย่าง รถโดยสารสาย 165 วิ่งเชื่อมเส้นทาง จากท่ารถ ผ่านถนนศาลาธรรมสพน์ เชื่อมไปสู่ถนนพุทธมณฑลสาย 3 ไปสู่ถนนเพชรเกษม และไปสู่บางแคเป็นจุดสุดท้าย
จากการสอบถามข้อมูลพบว่าอำนาจกำหนดเส้นทางเดินรถเป็นของกรมการขนส่งทางบก แต่อำนาจในการตั้งจุดจอดรถโดยสารเป็นของกรุงเทพมหานคร เมื่อกำหนดจุดจอดรถเบื้องต้น โดยนำข้อมูลไปหารือกับประชาชนที่มีส่วนได้เสียในพื้นที่ และศึกษาข้อมูลจากทฤษฎี Last Mile คือการทำให้ประชาชนได้ใช้การเดินทางที่สะดวกและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ที่สุด
นอกจากนี้เห็นควรให้มีป้ายรถโดยสาร 14 จุด และ Bike rack 2 จุด ทั้งนี้เพื่อยกระดับการเดินทางให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ สำหรับในระยะยาวอาจใช้รูปแบบของ Feeder เพื่อเชื่อมต่อไปยังระบบขนส่งสาธารณะ ดึงคนจากชุมชนเข้าสู่ระบบหลัก การเพิ่ม EV Bus
รวมทั้งยกระดับป้ายรถประจำทางให้มีพื้นที่นั่งรอ มีป้ายบอกการเดินรถที่ได้มาตรฐาน ซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนได้รับประโยชน์ไม่ต่ำกว่า 10,000 ครัวเรือน หรือประมาณ 25,000 คน สำหรับระยะเร่งด่วนควรติดตั้ง GPS ระบบสองแถว เชื่อมต่อ VIA Bus และสร้างแผนที่การเดินทางทวีวัฒนาและเชื่อมต่อกับพื้นที่อื่น