ตุลาการ แนะ “ศาลปกครองกลาง” พิพากษายกฟ้องคดีสายสีส้ม กีดกันการแข่งขัน

11 ก.ค. 2566 | 09:30 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.ค. 2566 | 09:30 น.

เปิดความเห็น ตุลาการ แนะ “ศาลปกครองกลาง” พิพากษายกฟ้องคดีรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังบีทีเอสซียื่นฟ้องรฟม.-คณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 ปมปรับเกณฑ์ทีโออาร์เอื้อเอกชนบางราย กีดกันการแข่งขัน

รายงานข่าวจากศาลปกครองกลาง เปิดเผยว่า ศาลปกครองกลางนัดพิจารณาคดีครั้งแรก ระหว่าง บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) (ผู้ฟ้องคดี) กับคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ในวันที่ 11 ก.ค. 66 เวลา 13.30 น. 

สำหรับคดีนี้ BTSC ฟ้องว่า คณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ร่วมกันออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 65
 

และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชน ให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิมตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 63 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย และมติคณะรัฐมนตรีแล้ว อันมีลักษณะเป็นการกีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรม จึงนำคดีมาฟ้อง 

ศาลปกครองกลางนัดพิจารณาคดีฯ โดยเสร็จสิ้นการพิจารณาเมื่อเวลา 14.25 น. โดยตุลาการผู้แถลงคดีให้ความเห็นว่า สำหรับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เห็นควรให้ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าวและเห็นควรให้ศาลฯไม่ต้องวินิจฉัยอีก เนื่องจากในการเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนก่อนการจัดทำร่างการออกประกาศเชิญชวนคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนและเอกสารการประกวดราคาของโครงการฯเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2566 นั้น

พบว่า มีเอกชนทั้งหมด 28 เอกชนได้ให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการเปิดรับฟังความคิดเห็น โดย 1 ในนั้นมี บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ซึ่งได้ให้ความคิดเห็นโดยไม่ปรากฏข้อโต้แย้งใดๆ ทั้งด้านแผนการลงทุนของโครงการฯหรือการฝ่าฝืนต่อการรักษาวินัยทางการเงินของภาครัฐ ฯลฯ
 

ดังนั้นข้อกำหนดต่างๆที่ปรากฎในเอกสารการประกวดราคาของโครงการฯเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2566 ได้มีการใช้ดุลยพินิจและมีคุณสมบัติโดยชอบตามกฎหมาย ซึ่งมาจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนทั้งสิ้น  

 

นอกจากนี้การกล่าวอ้างของบีทีเอสซีที่มีความเข้าใจว่าการปรับปรุงเอกสารการประกวดราคาของโครงการฯเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2566 ที่มีการใช้หลักเกณฑ์ด้านเทคนิคสูงขึ้น ทำให้บีทีเอสซีและพันธมิตรกลับไม่มีคุณสมบัติด้านงานโยธาตามเอกสารการประกวดราคา ซึ่งต่างจากหลักเกณฑ์การประกวดราคาในปี 2563 ถือเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและไม่ถูกต้องของบีทีเอสซี ที่ไม่อาจรับฟังได้ 

 

สำหรับการเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนก่อนการจัดทำร่างการออกประกาศเชิญชวนคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนและเอกสารการประกวดราคาของโครงการฯเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2566 มีเอกชนที่ให้ความคิดเห็นทั้งหมด 28 ราย อาทิ  1.บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM 3.ซีเมนส์ โมบิลิตี้ จำกัด 4.บริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC

 

5.บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ UNIQ 6.บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK 7.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD 8.บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 9.บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) ฯลฯ 

 

ทั้งนี้ตุลาการเห็นว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งงประเทศไทย (รฟม.)และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ได้ดำเนินการออกประกาศเชิญชวนคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนและเอกสารการประกวดราคาของโครงการฯ เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2566 เห็นชอบด้วยกฎหมาย ทำให้รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่บีทีเอสซี โดยศาลปกครองกลางได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีดังกล่าวภายในวันที่ 25 ก.ค.นี้ เวลา 13.30 น.

 

ด้านบมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ได้มอบหมายให้ผู้แทนเข้าร่วมการพิจารณาคดีดังกล่าว เบื้องต้นบีทีเอสซีไม่ขอออกความคิดเห็น โดยจะนำผลการพิจารณาจากศาลปกครองกลางในครั้งนี้ร่วมหารือภายในบริษัทก่อนที่ศาลปกครองกลางได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีฯภายในวันที่ 25 ก.ค.นี้