โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ถูกจับตามองอีกครั้ง เมื่อ พรรคก้าวไกลพลิกขั้วทางการเมืองจัดตั้งรัฐบาล และหากฝ่าด่านสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)ได้ หมายความว่าการควํ่ากระดานรถไฟฟ้าสายสีส้มและเปิดประมูลใหม่ย่อมเกิดขึ้น จากจุดยืนที่พรรคก้าวไกล ที่เคยประกาศไว้
ในสมัยที่ยังฝ่ายค้าน และติดตาม ตรวจสอบมาอย่างต่อเนื่อง ในชนวนความไม่ชอบมาพากล โดยเฉพาะวงเงิน 6.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนต่าง จากการประมูลครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สองที่อาจส่งผลให้รัฐเสียหายกระทบเงินภาษีของประชาชนอย่างที่ไม่ควรจะเป็น
หลังจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มถูกสกัด จากกรณีกระทรวงคมนาคมนำผลการประมูลเพื่ออนุมัติลงนามก่อสร้าง เข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรี (ครม.) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนยุบสภาแต่ปรากฏว่าถูก รัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาลสกัด เพราะยังกังขาในความไม่ชอบมาพากล และโยนให้รัฐบาลใหม่รับช่วงต่อโดยประเมินว่าไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลจะต้องนำกลับไปพิจารณาให้สิ้นความเคลือบแคลงสงสัยเพราะหากอนุมัติไปอาจมีคดีมัดตัว
“ส้ม”ล้ม”ส้ม”ประมูลใหม่
นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ฐานะรองเลขาธฺการพรรคก้าวไกล เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงกรณีรถไฟฟ้าสายสีส้มว่า เมื่อมีโอกาสเป็นฝ่ายรัฐบาล พรรคมีจุดยืน เช่นเดิม คือ ยกเลิกการประมูลสายสีส้มและเปิดประมูลใหม่ เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ซึ่งเอกชนที่ชำนาญเดินระบบรถไฟฟ้าของไทยมีเพียงสองราย
ทั้งนี้การใช้อำนาจยกเลิกประมูลสามารถกระทำได้เพราะ มีมูลเหตุที่ชัดเจน จากเอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์) ที่ ส่อไปในทางกีดกันการแข่งขันโน้มเอียง ให้กับเอกชนรายเดียว ทั้งที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน)หรือ บีทีเอสซี ต่างมีประสบการณ์ด้านนี้ไม่แพ้กัน ซึ่งการยกเลิกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เคยมีตัวอย่างปรากฎมาแล้วอย่างไม่สมเหตุสมผล
โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยกเลิกประมูลรอบแรกและเปิดประมูลอีกครั้งในรอบที่สองจนเกิดปมส่วนต่าง 6.8 หมื่นล้านบาท และนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง และหาก รฟม. ไม่เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลและไม่ล้มประมูล มีความเป็นไปได้ที่บีทีเอสซี จะชนะการประมูลเพราะขอรับเงินสนับสนุนค่าก่อสร้างจากรฟม.ตํ่าแค่เพียง 9,675.42 ล้านบาท
ประมูลใหม่ต้องดูทีโออาร์
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บีทีเอสซี กล่าวว่า หากมีการล้มประมูลและเปิดประมูลโครงการฯใหม่ถือเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งเราก็เห็นด้วย เพราะที่ผ่านมาบริษัทมีการฟ้องร้องต่อศาลถึงการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มไม่ชอบด้วยกฎหมายมาโดยตลอดแต่การประมูลรอบที่3 อาจกระทบ ต่อคดีการฟ้องร้องของบริษัทที่อยู่ในศาลปกครองและศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางหรือไม่นั้น การเปิดประมูลครั้งใหม่ จะต้องพิจารณาคดีจากการฟ้องร้องด้วย
“หากมีการประมูลครั้งใหม่ต้องดูเอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์) ด้วย ถ้ารายละเอียดมีการเปิดกว้างในด้านการแข่งขัน เราก็พร้อมที่จะเข้าร่วมการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม”
ปัจจุบันคดีรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ฟ้องร้องอยู่ในศาล จำนวน 2 คดี ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในศาลปกครอง 1 คดี คือ คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองกลาง ในกรณีที่บีทีเอสซี ฟ้องการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งใหม่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นการกีดกันด้านการแข่งขัน ส่วนอีก 1 คดี
ขณะนี้อยู่ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางโดยบีทีเอสซี ได้ฟ้องรฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ในการแก้ไขเอกสารการประกวดราคาและยกเลิกการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งเป็นการทุจริตละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ในช่วงที่ผ่านมาบีทีเอสซีได้ขอขยายเวลาอุทธรณ์คำพิพากษาล่าสุดคดีนี้ทางบีทีเอสซีได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566 หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับศาลอาญาคดีทุจริตจะพิจารณาผลอุทธรณ์อย่างไร
ย้อนรอยคดีสายสีส้ม
การฟ้องร้องของเอกชนในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น สืบเนื่องมาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (งานโยธา) ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร รวมงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร ในรูปแบบ PPP Net Cost มูลค่าโครงการ 142,789 ล้านบาท หลังจากที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประมูลหลายครั้ง โดยรฟม. ได้ดำเนินการขายซองเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนและมีผู้ซื้อซองเอกสารรวม 10 ราย เมื่อเดือนกรกฎาคม2563 โดยกำหนดให้มีการยื่นซองเอกสารในวันที่ 23 กันยายน 2563
ในช่วงที่รฟม. ได้เริ่มประกาศขายซองข้อเสนอให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น พบว่าบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ขอให้ทบทวนวิธีการประเมินข้อเสนอ การร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯโดยระบุว่าไม่ควรพิจารณาให้ผู้ชนะการคัดเลือกเป็นผู้ที่เสนอผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุดเท่านั้น แต่ควรพิจารณาผู้ที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่รัฐในภาพรวม
ที่จะทำให้โครงการประสบความสำเร็จได้ โดยพิจารณาถึงปัจจัยและผลประโยชน์ด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อเสนอด้านเทคนิคการดำเนินงาน ความน่าเชื่อถือ ศักยภาพและความสามารถของผู้ยื่นข้อเสนอ จึงเป็นชนวนทำให้ เปิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไข หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกครั้งสำคัญอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน คือพิจารณาซองเทคนิคร่วมกับซองราคา จากเดิมพิจารณาที่ซองราคา
รายงานข่าวจาก บีทีเอสซี ระบุว่า บริษัทได้ทำหนังสืออย่างน้อย 3 ฉบับ สอบถามข้อเท็จจริงและทักท้วงเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอฯ ของรฟม. ดังกล่าวว่า ารปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอฯ โครงการไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) นั้น มีความแตกต่างจากโครงการร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชนในอดีตพอสมควร โดยผู้ชนะการประมูล จะเป็นผู้เสนอให้ผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดและเสนอใช้เงินลงทุนของภาครัฐน้อยที่สุด
ส่วนกระบวนการพิจารณาและเปิดซองประมูล จะทำเป็นขั้นตอน คือ เมื่อเปิดซองที่ 1 หรือซองคุณสมบัติ แล้วผ่าน ก็จะเปิดซองที่ 2 คือ ซองเทคนิค และเมื่อซองเทคนิคผ่านแล้ว จึงจะเปิดซองที่ 3 ซึ่งเป็นซองข้อเสนอราคาและผลตอบแทน ทำให้บีทีเอสฟ้องร้องต่อศาลปกครอง รวมทั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบด้วยกฎหมายจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลโครงการฯที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจนนำมาสู่การล้มประมูลโครงการฯ ประมูลครั้งที่2
ขณะเดียวกันรฟม.ยังเดินหน้าเปิดประมูลครั้งที่ 2 ทั้งที่มีคดีค้างคาอยู่ ซึ่งการเปิดซองเสนอของเอกชนในโครง การรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ครั้งนี้ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการเปิดซองข้อเสนอทั้งด้านคุณสมบัติ,ด้านเทคนิค และด้านผลตอบแทนและการลงทุนครบทั้ง 3 ซอง พบว่า
บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) หรือ BEM เสนอผลประโยชน์สุทธิ (NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท ขณะที่ ITD Group เสนอผลประโยชน์สุทธิ (NPV) เท่ากับ -102,635.66 ล้านบาท ซึ่ง BEM เป็นเอกชนที่ต้องการขอรับเงินสนับสนุนจากรฟม.ตํ่าสุด ถือเป็นผู้ชนะการประมูลในรอบนี้
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่บีทีเอสซี เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 กรณีมีมติการประชุมเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า1.4แสนล้านบาท ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ
ทั้งนี้ศาลปกครองสูงสุด ได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกฟ้อง รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ฯ มีอำนาจยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนและยกเลิกการคัดเลือกเอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มชอบด้วยกฎหมายโดย ศาลฯพิเคราะห์ ว่า การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-บางขุนนนท์หากล่าช้า จะส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนทางการเงินรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก
รวมถึงทำให้การให้บริการส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ล่าช้าส่งผลให้มีค่าใช้ด้านงานโยธาส่วนตะวันออกเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ตามผลการศึกษาโครงการฯ เมื่อเปิดให้บริการทั้งเส้นทางจะมีผู้ใช้บริการ 439,736 คนต่อเที่ยวต่อวัน หากเปิดล่าช้าจะทำให้ผู้ใช้บริการสูญเสียประโยชน์