ลุ้นสผ.ไฟเขียวอีไอเอ สร้างสะพานสนามบินน้ำ 5 พันล้าน

13 ก.ค. 2566 | 06:09 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ค. 2566 | 06:09 น.

“ทางหลวงชนบท” ชงสผ.เคาะอีไอเอสร้างสะพานสนามบินน้ำ 5 พันล้านบาท คาดเสร็จกลางปี 67 ลุ้นรัฐบาลใหม่ไฟเขียวงบเวนคืนที่ดิน ฟากชาวบ้านยอมถอยดันโครงการฯเดินหน้าต่อ

ที่ผ่านมา “กรมทางหลวงชนบท” มีแผนดำเนินการก่อสร้างสร้างโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนสนามบินน้ำ แต่ถูกชาวบ้านคัดค้านมาโดยตลอดทำให้คนในชุมชนสนามบินน้ำเดือดร้อนไร้ที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก อีกทั้งการสร้างสะพานไม่ตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาการจราจรอย่างแท้จริง

รายงานข่าวจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนสนามบินน้ำ งบประมาณรวม 5,000 ล้านบาท ที่ผ่านมากรมฯได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาสำรวจออกแบบรายละเอียดความเหมาะสมของโครงการฯควบคู่กับการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ระยะเวลาศึกษาทั้งหมด 18 เดือน แล้วเสร็จ ปัจจุบันกรมฯได้เสนอรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2566 คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในกลางปี 2567 ระยะเวลา 1 ปี

“ส่วนการของบประมาณเพื่อเวนคืนที่ดินโครงการฯนั้น เราต้องรอดูว่าอีไอเอจะผ่านหรือไม่ กรณีที่โครงการฯมีการปรับแก้ไขอีไอเอ จะต้องกลับมาดำเนินการชี้แจงเพิ่มเติมด้วย หากอีไอเอผ่านความเห็นชอบจากสผ.แล้ว จะต้องดำเนินการสำรวจอสังหาริมทรัพย์เพื่อออกพ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน หลังจากนั้นกรมฯ ถึงจะของบประมาณเวนคืนที่ดินโครงการฯ ซึ่งจะต้องรอรัฐบาลชุดใหม่พิจารณาอนุมัติ เนื่องจากการของบประมาณดังกล่าวจะต้องผ่านขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎรด้วย”

ตามแผนของโครงการฯคาดว่าจะเริ่มออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน (พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน) ภายในปี 2568 และสำรวจอสังหาริมทรัพย์ รังวัดที่ดิน แปลงที่ดินและสิ่งปลูกสร้างภายในปี 2569 ซึ่งกรมฯจะขอรับจัดสรรงบประมาณเวนคืนที่ดินภายในปี 2569-2570 โดยกรมฯจะกำหนดค่าทดแทนและประกาศทำสัญญาเพื่อรับเงินชดเชย สำหรับผู้ที่ถูกเวนคืนที่ดิน ใช้ระยะเวลา 2 ปี เริ่มในปี 2570-2571 และดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างควบคุมงานและดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2573 ใช้ระยะเวลา 3 ปี คาดว่าเปิดให้บริการภายในปี 2576

รายงานข่าวจากทช.กล่าวต่อว่า กรณีที่กลุ่มชาวบ้านสนามบินน้ำคัดค้านขอให้ยกเลิกโครงการฯ เพราะชุมชนได้รับผลกระทบนั้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่มักจะมีชาวบ้านบางกลุ่มไม่เห็นด้วย เบื้องต้นกรมฯได้มีการทำแบบสอบถามและชี้แจงการดำเนินโครงการฯดังกล่าวมาตลอด พบว่า 60% กลุ่มชาวบ้านเห็นด้วยให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการฯได้

ด้านพื้นที่ที่ถูกเวนคืนของโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนสนามบินน้ำ มีพื้นที่เวนคืนที่ดิน 146 ไร่ 337 แปลง 250 หลังคาเรือน ตั้งอยู่บนพื้นที่บริเวณกรมพลาธิการทหารบก ช่วงเชิงสะพานฝั่งถนนสนามบินน้ำตลอดจนพื้นที่บริเวณถนนระดับดินบริเวณตำบลท่าอิฐเชื่อมต่อถนนราชพฤกษ์ ระยะทาง 7 กิโลเมตร (กม.)

สำหรับแนวเส้นทางของโครงการฯ มีจุดเริ่มต้นจากพื้นที่ตำบลท่าทราย อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี บนถนนสนามบินน้ำ วางแนวในทิศตะวันตกผ่านบ้านพักข้าราชการ, กรมพลาธิการ,สนามบินน้ำ โดยยกระดับเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาทางฝั่งทิศตะวันตกวางแนวอยู่ทางด้านทิศใต้ของวัดตำหนักผ่านวัดแดงธรรมชาติ หลังจากนั้นผ่านองค์การบริหารส่วนตำบลท่าอิฐ ,โรงเรียนท่าอิฐศึกษา,คลองบางบัวทอง,วัดท่าสิงห์ จากนั้นแนวเส้นทางเชื่อมต่อถนนราชพฤกษ์ บริเวณกม.25+200

ส่วนการก่อสร้างของโครงการฯ จะดำเนินการก่อสร้างสะพานในรูปแบบคานขึง (Extradosed bridge) ซึ่งมีความเหมาะสมมากที่สุดโดยโครงสร้างสะพานมีรูปร่างคล้ายสะพานขึง คือ มีเสาและเคเบิลเป็นองค์ประกอบที่คล้ายกัน แต่เสาสูงในสะพานขึงจะเตี้ยกว่าในสะพานขึงและเคเบิลจะติดตั้งให้มีความชันน้อยกว่า

ทั้งนี้จากการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจการดำเนินโครงการฯ พบว่ามูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) อยู่ที่ 1,152.23 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ (EIRR) อยู่ที่ 16.60% อัตราผลประโยชน์ต่อต้นทุน (B/C Ratio) อยู่ที่ 1.45 ซึ่งถือว่าโครงการฯ มีความเหมาะสม รวมทั้งมีการคาดการณ์ปริมาณการจราจรในอนาคตบริเวณถนนในโครงการสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ทั้ง 5 แห่ง

พบว่า ในปี 2567 ปริมาณการจราจรบริเวณถนนรัตนาธิเบศร์ ลดลงอยู่ที่ 124,363 คันต่อวัน ถนนนครอินทร์ ลดลงอยู่ที่ 126,725 คันต่อวัน ถนนราชพฤกษ์ ลดลงอยู่ที่ 113,275 คันต่อวัน ถนนกาญจนาภิเษก ลดลงอยู่ที่ 192,213 คันต่อวัน และสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 78,575 คันต่อวัน