เวนคืน 337 แปลง 250 หลังคาเรือน สร้างสะพานสนามบินนํ้า

05 ส.ค. 2565 | 23:30 น.

ไม่ถอย “ทช.” เดินหน้าศึกษาโครงการสะพานข้ามแม่นํ้าเจ้า พระยา บริเวณถนนสนามบินนํ้า 5 พันล้านบาท คาดเสร็จ พ.ย.นี้ ชง สผ. ไฟเขียวอีไอเอ เตรียมเวนคืนท่าอิฐ-เชิงสะพานสนามบินนํ้า 146 ไร่ เล็งเปิดรับฟังความเห็นประชาชน 21-22 ส.ค.นี้

การก่อสร้างโครงข่ายถนน-สะพานเพื่อบรรเทาปัญหาจราจรติดขัดในเขตกรุงเทพ มหานครและปริมณฑล ยังมีความจำเป็นเร่งด่วนแม้จะมีประชาชนบางกลุ่มคัดค้านจากผลกระทบที่เกิดขึ้นก็ตาม

 

 

รายงานข่าวจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการสะพานข้ามแม่นํ้าเจ้าพระยา บริเวณถนนสนามบินนํ้า งบประมาณรวม 5,000 ล้านบาท ปัจจุบันกรมฯอยู่ระหว่างศึกษาสำรวจออกแบบรายละเอียดความเหมาะสมของโครงการฯควบคู่กับการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ระยะเวลาศึกษาทั้งหมด 18 เดือน สัญญาเริ่มตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2564 สิ้นสุดภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 หลังดำเนินการแล้วเสร็จ กรมฯจะเสนอรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาเห็นชอบ ใช้ระยะเวลาราว 2 ปี คาดแล้วเสร็จภายในปี 2566-2567  

 

 

 หากรายงานรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ผ่านความเห็นชอบจากสผ.แล้ว หลังจากนั้นจะเริ่มออกพ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน ภายในปี 2568 และสำรวจอสังหาริมทรัพย์ รังวัดที่ดิน แปลงที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภายใน ปี 2569 ซึ่งกรมฯจะขอรับจัดสรรงบประมาณเวนคืนที่ดิน ภายในปี 2569-2570 ทั้งนี้จะได้รับจัดสรรงบประมาณเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับในช่วงที่สำรวจอสังหาริมทรัพย์บนพื้นที่ที่จะเวนคืนด้วย เพราะขณะนี้กรมฯอยู่ระหว่างดำเนินการประมาณการค่าเวนคืนเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ความคุ้มค่าโครงการฯ 
 

รายงานข่าวจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นกรมฯจะกำหนดค่าทดแทนและประกาศทำสัญญาเพื่อรับเงินชดเชย สำหรับผู้ที่ถูกเวนคืนที่ดิน ใช้ระยะเวลา 2 ปี เริ่มในปี 2570-2571 และดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างควบคุมงานและดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2573 ใช้ระยะเวลา 3 ปี คาดว่าเปิดให้บริการภายในปี 2576  

 


ทั้งนี้แนวเส้นทางพื้นที่ที่ถูกเวนคืนของโครงการฯ มีพื้นที่เวนคืนที่ดิน 146 ไร่ 337 แปลง 250 หลังคาเรือน ตั้งอยู่บนพื้นที่บริเวณกรมพลาธิการทหารบก ช่วงเชิงสะพานฝั่งถนนสนามบินนํ้าตลอดจนพื้นที่บริเวณถนนระดับดินบริเวณตำบลท่าอิฐเชื่อมต่อถนนราชพฤกษ์ ระยะทาง 7 กิโลเมตร (กม.) แต่ปัจจุบันกรมฯไม่ได้มีการเวนคืนที่ดินบริเวณสะพานข้ามถนนสนามบินนํ้า แต่จะดำเนินการขยายช่องจราจรบริเวณเขตทางเดิม 

 

 

 “กรณีมีกลุ่มชาวบ้านสนามบินนํ้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เรียกร้องให้ยกเลิกโครงการฯนั้น ทาง กรมฯได้รับทราบเรื่องแล้ว ที่ผ่านมากรมฯได้จัดประชุมเพื่อชี้แจงกับชาวบ้านมาโดยตลอด ซึ่งไม่ได้ปิดกั้นความคิดเห็นประชาชนที่คัดค้านหรือไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ ทางกรมฯได้มีการทำรายงานอีไอเอ ต้องใช้ข้อมูลเหล่านี้ประกอบอยู่แล้ว เบื้องต้นกรมฯจะลงพื้นที่เปิดรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนกลุ่มย่อยอีกครั้งภายในวันที่ 21-22 สิงหาคมนี้”

ส่วนรายละเอียดในหนังสือเรียกร้องดังกล่าว ระบุว่า กรมทางหลวงชนบทมีโครงการจะสร้างสะพานข้ามแม่นํ้าเจ้าพระยาบริเวณถนนสนามบินนํ้า จากฝั่งชุมชนสนามบินนํ้า อำเภอเมือง นนทบุรี ข้ามแม่นํ้าเจ้าพระยา ไปยังฝั่งตำบลท่าอิฐ อำเภอปากเกร็ด ผ่านตำบลท่าอิฐไปสิ้นสุดที่ถนนราชพฤกษ์ ซึ่งจะทำให้คนในชุมชนสนามบินนํ้าเดือดร้อนไร้ที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมากซึ่งไม่เห็นด้วยในการก่อสร้างสะพานสนามบินนํ้า ด้วยเหตุผลการสร้างสะพานไม่ตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาการจราจรอย่างแท้จริง ตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯแต่กลับสร้างปัญหาจราจรติดขัดบริเวณแยกสนามบินนํ้าเพิ่มขึ้นปัจจุบันระบบขนส่งมวลชน ระบบรางคือรถไฟฟ้ามีถึง 2 สาย คือสายสีม่วงที่เปิดดำเนินการแล้วกับสายสีชมพูที่กำลังก่อสร้างและกำลังจะเปิดดำเนินการใช้ในปี 2566 ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐท้องถิ่นแก้ปัญหาไม่ตรงจุด สภาพการจราจรภายในเขต อำเภอเมืองนนทบุรีแออัดอยู่แล้วและมีสะพานหลักคือ สะพานพระนั่งเกล้า 2 สะพาน เท่ากับเป็นสะพานสนามบินนํ้าได้

 

เวนคืน 337 แปลง 250 หลังคาเรือน สร้างสะพานสนามบินนํ้า

ที่ผ่านมาจากการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจการดำเนินโครงการฯ พบว่ามูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) อยู่ที่ 1,152.23 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ (EIRR) อยู่ที่ 16.60% อัตราผลประโยชน์ต่อต้นทุน (B/C Ratio) อยู่ที่ 1.45 ซึ่งถือว่าโครงการฯ มีความเหมาะสม รวมทั้งมีการคาดการณ์ปริมาณการจราจรในอนาคตบริเวณถนนในโครงการ- สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ทั้ง 5 แห่ง พบว่า ในปี 2567 ปริมาณการจราจรบริเวณถนนรัตนาธิเบศร์ ลดลงอยู่ที่ 124,363 คันต่อวัน ถนนนครอินทร์ ลดลงอยู่ที่ 126,725 คันต่อวัน ถนนราชพฤกษ์ ลดลงอยู่ที่ 113,275 คันต่อวัน ถนนกาญจนาภิเษก ลดลงอยู่ที่ 192,213 คันต่อวัน และสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 78,575 คันต่อวัน

 

 

สำหรับการก่อสร้างของโครงการฯ จะดำเนินการก่อสร้างสะพานในรูปแบบคานขึง (Extradosed bridge) ซึ่งมีความเหมาะสมมากที่สุดโดยโครงสร้างสะพานมีรูปร่างคล้ายสะพานขึง คือมีเสาและเคเบิลเป็นองค์ประกอบที่คล้ายกัน แต่เสาสูงในสะพานขึงจะเตี้ยกว่าในสะพานขึงและเคเบิลจะติงตั้งให้มีความชันน้อยกว่า