นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี วันนี้( 13 ก.ค.66)จะเป็นตัวชี้วัดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากแรงกดดันทางการเมือง ซึ่งภาคธุรกิจและผู้บริโภคต่างจับตาการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีว่าจะไปในทิศทางใด เพราะหากไม่มีรัฐบาลหรือจัดตั้งรัฐบาลได้ล่าช้าการใช้งบประมาณของภาครัฐจะถูกเลื่อนออกไป ทำให้ภาคธุรกิจวางแผนลงทุนไม่ได้
โดยประเมินว่าหากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไป แต่ยังอยู่ในเดือน ส.ค. - ก.ย. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจคงจะไม่รุนแรง เพราะถือว่ายังอยู่ในกรอบ สามารถเดินหน้างบลงทุนต่าง ๆ จะทำให้เอกชนวางแผนลงทุนได้ต่อ แต่หากจัดตั้งรัฐบาลเลยออกไปเดือน ต.ค. การใช้งบประมาณจะถูกเลื่อนออกไปช่วงไตรมาส 2 ปี 2567 จะกระทบการขยายตัวเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
ดังนั้นประเมินว่า หากสถานการณ์การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีราบรื่น แม้จะมีการชุมนุมประท้วงแต่ไม่มีความรุนแรง เศรษฐกิจก็จะสามารถเติบโตได้ 3.5% แต่หากได้นายกรัฐมนตรีและเร่งจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ ตามกรอบระยะเวลาและผลักดันการใช้งบประมาณ เร่งเดินหน้าลงทุน เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวได้ 4%
แต่กรณีหากไม่มีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีขึ้นอยู่กับเหตุผลของรัฐสภาว่าจะเป็นเหตุผลใด เช่น จำเป็นต้องรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการถือหุ้นสื่อของนายพิธาหรือไม่ หรือหากกรณีเลวร้ายนำไปสู่การยุบพรรคก้าวไกล ทั้งหมดจะนำไปสู่ก็ความรุนแรงการเกิดชุมนุมประท้วงว่าจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ หากไม่มีภาพความรุนแรง หรือ มีการชุมนุมในกรอบสันติวิธีก็จะไม่มีผลต่อการท่องเที่ยวจนกระเทือนมาถึงระบบเศรษฐกิจ
แต่การชุมนุมประท้วงมีความรุนแรงจนเกิดความเสียหายต่อภาคการท่องเที่ยว มีโอกาสจะเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวหายไปเดือนละ 1 ล้านช่วงที่เหลือของปีนี้ ทำรายได้ท่องเที่ยวหายไปราว 500,000 ล้านบาทซึ่งจะฉุดการขยายตัวของเศรษฐกิจลดลง 1%