นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า โอกาสของกล้วยไทยในตลาดญี่ปุ่น ไทยกับประเทศญี่ปุ่นเองมีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย -ญี่ปุ่น (Japan - Thailand Economic Partnership Agreement) หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า JTEPA ซึ่งให้สิทธิพิเศษการยกเว้นภาษีนำเข้ากล้วยจากประเทศไทยเป็นจำนวน 8,000 ตันต่อปี
แต่ที่ผ่านมาไทยยังใช้โควต้าดังกล่าวไม่เกิน 3,000 ตันต่อปีเท่านั้น จึงยังเหลือโควต้าไม่เสียภาษีอีกถึง 5,000 ตัน ซึ่งก่อนหน้านี้ภายในงาน THAIFEX - Anuga Asia 2023 ในเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา
ได้มีการจัดกิจกรรมการพบปะเจรจาการค้าระหว่างบริษัทผู้นำเข้าญี่ปุ่นรวม 10 บริษัท และผู้ส่งออกไทยรวม 23 บริษัท 38 ราย แล้ว ซึ่งคาดว่ากล้วยและผลิตภัณฑ์กล้วยแปรรูปของไทยได้รับความสนใจสั่งซื้อเป็นมูลค่าทะลุ 1,000 ล้านบาท จึงได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์เร่งรัดการซื้อขายดังกล่าวเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ด้านนายฉันทพัทธ์ ปัญจมานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจกล้วยจากประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะชาวญี่ปุ่นนิยมทานกล้วยมากถึงปีละกว่า 1 ล้านตันแต่สามารถปลูกเองได้น้อยมาก ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ากล้วยจากประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งก็เริ่มมีราคาในตลาดที่สูงขึ้น อีกทั้งในปัจจุบันมีประเทศไทยเพียงประเทศเดียวในโลกที่ยังสามารถปลูกกล้วยหอมทองได้ ซึ่งชาวญี่ปุ่นจำนวนมากที่เคยได้ลองทานแล้วก็ต่างมีความเห็นว่าเป็นกล้วยที่มีรสชาติอร่อยกว่ากล้วยหอมเขียวที่วางขายอยู่ในตลาด
จึงมีความมั่นใจว่ากล้วยไทยนั้นน่าจะสามารถเข้าไปตีตลาดญี่ปุ่นได้อย่างแน่นอนหากประเทศไทยมีการควบคุมคุณภาพการผลิตและมีผลผลิตที่เพียงพอต่อการส่งออก ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากจะพาผู้นำเข้าชาวญี่ปุ่นให้มาลองชิมและให้มาเห็นถึงวิถีการผลิตกล้วยของไทยว่ามีมาตรฐานและมีการควบคุมคุณภาพที่ดีเพื่อช่วยสร้างความมั่นใจสำหรับการสั่งซื้อในระยะยาวแล้ว ยังได้นำผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นด้านกล้วยโดยเฉพาะซึ่งในอดีตเคยเป็นผู้บุกเบิกการนำกล้วยจากฟิลิปปินส์เข้าไปเปิดตลาดญี่ปุ่นจนสามารถครองตลาดได้มาจนถึงทุกวันนี้
ให้ร่วมเดินทางไปให้คำแนะนำเทคนิคการเพิ่มผลผลิตและยกระดับการรักษาคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยของไทยอีกด้วย ซึ่งต้องบอกว่า เมื่อผู้นำเข้าญี่ปุ่นได้มาเห็นและได้พบปะพูดคุยกับพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยในจังหวัดนครราชสีมาแล้ว ต่างก็รู้สึกประทับใจเป็นอย่างมากเพราะได้เห็นถึงความพร้อมของพื้นที่ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้เป็นอย่างดี และก็ได้เริ่มวางแผนการสั่งซื้อกล้วยจากไทยเพิ่มขึ้นอีก 5,000 ตันต่อปีโดยทันทีแล้ว
ขณะที่นายศารุมภ์ โหม่งสูงเนิน พาณิชย์จังหวัดนครราชสีมาได้กล่าวถึงกิจกรรมในครั้งนี้ว่า จังหวัดนครราชสีมานั้นเป็นพื้นที่แนวภูเขาไฟเก่าซึ่งมีดินอุดมไปด้วยแร่ธาตุมากมาย จึงทำให้กล้วยที่ปลูกที่นี่มีสารอาหารและมีรสชาติที่อร่อยไม่เหมือนใคร และจากการที่ได้มีการพูดคุยกับผู้นำเข้าชาวญี่ปุ่นในครั้งนี้ ทำให้ได้ทราบความต้องการของตลาดซึ่งสอดรับกับความพร้อมของจังหวัดอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ปลูกที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 500 เมตร ซึ่งทางญี่ปุ่นเชื่อว่าจะช่วยให้กล้วยมีคุณภาพดีและมีรสชาติอร่อยยิ่งขึ้น หรือพื้นที่เพาะปลูกแปลงใหญ่ที่อยู่ในระยะรัศมีเดียวกันที่มีขนาดรวมแล้วไม่น้อยกว่า 625 ไร่ ซึ่งจะให้ผลผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการและสามารถส่งมอบกล้วยที่มีความสดใหม่ได้ดี
ซึ่งจากประสบการณ์ที่ได้ส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยในจังหวัดมาอย่างต่อเนื่อง ก็ได้เห็นถึงความตั้งใจจริงและความพร้อมในการส่งออกอย่างมาก และเมื่อมาผนวกกับองค์ความรู้ที่ได้จากผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นจากกิจกรรมในครั้งนี้นั้น จึงมีความเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าจะสามารถพัฒนาและยกระดับให้กล้วยของจังหวัดนครราชสีมาให้มีมาตรฐานการผลิตที่อยู่ในระดับสากล และจะสามารถครองใจผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นได้อย่างแน่นอน
นอกจากความสำเร็จจากการผลักดันกล้วยจำนวน 5,000 ตัน และมังคุดอีก 300 ตันสู่ตลาดญี่ปุ่นในครั้งนี้นั้น ในเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าส่งออกได้ทันทีไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท และจะช่วยให้ผลไม้ไทยลดการพึ่งพิงตลาดหลักตลาดเดียวอย่างประเทศจีน รวมทั้งจะช่วยให้ผลไม้ไทยมีระดับราคาที่ดีและนำไปสู่ความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยที่ดีขึ้น