ปัจจุบัน “กล้วยไทย” ผลไม้เศรษฐกิจสำคัญของประเทศ กำลังกลายเป็นที่นิยมจากตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนิยมบริโภคกล้วยหอมและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วยหอมเป็นอย่างมาก และยังมีความต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วยหอมเพิ่มขึ้นทุกปี จึงเป็นโอกาสของการส่งออกสินค้ากล้วยหอมและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วยหอมไทยสู่ตลาดญี่ปุ่นเพิ่ม
ทั้งนี้ประเทศญี่ปุ่น นับว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความต้องการนำเข้ากล้วยจากต่างประเทศประมาณปีละ 1 ล้านตัน โดยประเทศไทยได้โควตาส่งออกกล้วยหอมไปญี่ปุ่นปีละ 8,000 ตัน โดยไม่เสียภาษีนำเข้า (ภาษี 0%)
แต่ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกกล้วยหอมได้เพียงปีละประมาณ 2,000 – 3,000 ตัน เท่านั้น และตลาดหลักของญี่ปุ่น ยังเป็นประเทศฟิลิปปินส์ที่ยังเป็นผู้ครองตลาดกล้วยในญี่ปุ่น แต่ที่ผ่านมาประเทศฟิลิปปินส์ได้ประสบปัญหาหลายด้าน จึงเป็นโอกาสของกล้วยไทยที่จะไปทำตลาดในญี่ปุ่นมากขึ้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
แนวโน้มตลาดกล้วยไทยในญี่ปุ่น
สำหรับแนวโน้มตลาดกล้วยไทยในญี่ปุ่นนั้น ล่าสุด กล้วยสดและผลิตภัณฑ์กล้วยแปรรูปของไทยได้รับความนิยมในประเทศญี่ปุ่น โดยกระทรวงพาณิชย์คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางการค้าได้ถึง 1,070.55 ล้านบาท พร้อมใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement : JTEPA) เป็นอีกช่องทางสำคัญในการขยายการส่งออกสู่ตลาดญี่ปุ่นต่อเนื่อง
ทั้งนี้จากการจัดงาน THAIFEX – Anuga Asia 2023 ที่ผ่านมาของไทย มีผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นรวม 10 บริษัท ทั้งจากซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ อาทิ Gyomu Super ซึ่งมีกว่า 1,050 สาขา และ Beisia ซึ่งมีกว่า 130 สาขาทั่วญี่ปุ่น และผู้ประกอบการที่มีศักยภาพต่างให้ความสนใจในสินค้ากล้วยสดและผลิตภัณฑ์กล้วยแปรรูปจากไทย
พร้อมทั้งมีการการเจรจาการค้าร่วมกับผู้ส่งออกชาวไทยจาก 23 บริษัท จำนวน 38 ราย จากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอม ผู้ผลิตกล้วยแปรรูป และผู้ประกอบการกล้วย GI ของไทยที่ได้รับการรับรองจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาด้วย
คาดยอดสั่งซื้อกล้วยญี่ปุ่นพันล้าน
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่าจะมียอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2,000 ตัน รวมเป็นมูลค่าทางการค้าได้ถึง 1,070.55 ล้านบาท สอดคล้องกับข้อมูลที่ระบุว่า ชาวญี่ปุ่นนิยมบริโภคกล้วยเป็นอย่างมาก เพราะเป็นผลไม้ที่มีรสชาติอร่อย มีคุณค่าทางอาหารสูง
อีกทั้งยังมีราคาที่เข้าถึงได้และสามารถนำไปใช้แปรรูปเป็นขนมได้อีกมากมาย โดยในแต่ละปี ญี่ปุ่นจะนำเข้ากล้วยบริโภคในประเทศถึงปีละกว่า 1 ล้านตัน เนื่องจากสภาพภูมิอากาศของญี่ปุ่นไม่เอื้ออำนวย ทำให้ปลูกกล้วยได้ในปริมาณน้อย
ศักยภาพไทยยังส่งออกได้อีกมาก
รัฐบาลยังเล็งเห็นถึงโอกาสจากการมีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น (JTEPA) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2550 เพื่อขยายช่องทางการค้าระหว่างกัน รวมถึงการอำนวยความสะดวกทางการค้าและความร่วมมือสาขาต่าง ๆ โดยญี่ปุ่นได้ให้สิทธิพิเศษการยกเว้นภาษีนำเข้ากล้วยจากประเทศไทยเป็นจำนวน 8,000 ตัน ซึ่งไทยยังสามารถส่งออกกล้วยได้อีกจำนวนมาก ควบคู่กับการเตรียมแผนงานเพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งออกให้แก่กลุ่มเกษตรกรไทย
โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 นี้ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จะนำผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นลงไปให้ความรู้และเตรียมความพร้อมในการส่งออกให้กับลุ่มสหกรณ์ผู้ปลูกกล้วยไทย
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการหรือเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายด่วน 1169 บริการให้คำปรึกษาด้านการค้าระหว่างประเทศ
นายกฯ ดันผลไม้ไทยสู่เวทีโลก
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่ได้รับทราบว่า กล้วยสดและผลิตภัณฑ์กล้วยแปรรูปของไทย กำลังได้รับความนิยมในญี่ปุ่น
พร้อมทั้งเชื่อมั่นในคุณภาพของผลไม้ไทยที่หลายประเทศต่างให้การยอมรับ ซึ่งผลการเจรจาการค้าดังกล่าวจะเป็นลู่ทางสำคัญที่สามารถขยายโอกาสทางการค้าได้ โดยกล้วยสดและผลิตภัณฑ์กล้วยแปรรูปของไทย มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ มีนวัตกรรมแปรรูปสินค้าได้น่าสนใจ ซึ่งสามารถดึงดูดตลาดผู้บริโภคได้หลากหลายกลุ่ม
โดยรัฐบาลพร้อมที่จะผลักดันผลไม้ไทยให้เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ ควบคู่กับการพัฒนาและสนับสนุนภาคการผลิต ทั้งจากผู้ประกอบการและกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตให้มีความพร้อมเพียงพอ สามารถรองรับตลาดต่างประเทศได้อย่างเต็มศักยภาพ