จากกรณีข้อเสนอของพรรคการเมืองหนึ่ง เสนอให้ยืดโหวตนายกฯไปอีก 10 เดือน ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า หากเป็นไปตามนั้นจริง จะกระทบกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปียาวถึง 3 ปีงบประมาณ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 – 2569 และนับว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย
เลขาสศช.มองว่าการยืดโหวตนายกฯไปอีก 10 เดือน จะกระทบกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารประเทศไทย
"ไม่ว่ายุคไหนก็ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้รัฐบาลรักษาการยาวนานขนาด 10 เดือน อย่างมากก็แค่ 2-3 เดือนในช่วงเปลี่ยนรัฐบาล ถ้าจะรักษาการยาวถึง 10 เดือนคงไม่เหมาะ เพราะทุกอย่างจะหยุดชะงัก โดยเฉพาะการจัดทำงบประมาณปี 2567 ต่อเนื่องถึงงบปี 2568 ทำได้ช้า และพันไปถึงงบปี 2569 ต่ออีกด้วย” นายดนุชา กล่าว
ช่วงรายต่องบปีเงิน 1.8 ล้านล้าน
ทั้งนี้ในเบื้องต้น สศช. ประเมินว่า ในช่วงที่ยังไม่สามารถประกาศใช้งบประมาณปี 2567 ได้ทันและล่าช้าออกไปประมาณ 6 เดือน หรือประมาณ 2 ไตรมาส ก็น่าจะมีการใช้จ่ายงบประมาณลงไปประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นวงเงินงบประจำประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท ส่วนที่เหลือคืองบลงทุนรัฐวิสาหกิจประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่งเงินในส่วนนี้น่าจะลงไปในระบบเพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงนี้ได้
นายดนุชา กล่าวว่า หากการจัดทำงบประมาณรายจ่ายแต่ละปีล่าช้าออกไป คงต้องไปดูว่าจะมีเงินจากรัฐวิสาหกิจที่ลงทุนได้เพิ่มหรือไม่ เพื่อชดเชยงบลงทุนภาครัฐในรายการใหม่ที่ยังไม่สามารถทำได้ในช่วงรัฐบาลรักษาการ และการใช้งบประมาณแบบพลางไปก่อน
กระทบกรอบเจรจาการค้า FTA
เลขาฯ สศช. ยังระบุอีกว่า นอกจากผลกระทบเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีแล้ว การมีรัฐบาลช้า หรือรักษาการยาวถึง 10 เดือน จะส่งผลกระทบต่อกรอบการเจรจาบนเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเจรจาการค้า หรือ FTA ต่าง ๆ เพราะถ้ามีการเจรจาแล้วก็ยังไม่สามารถที่จะลงนามในสัญญาในช่วงของการเป็นครม.รักษาการได้ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นคือกระทบกับการค้า การลงทุนของประเทศแน่นอน