นายศักระ กบิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจังหวัดระนอง (กรอ.) ติดตามผลการสำรวจหาพื้นที่ในการก่อสร้างสถานีจ่ายกระแสไฟฟ้า ระนอง 3 เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาไฟฟ้าดับในพื้นที่จังหวัดระนอง
รวมทั้งติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน รวมถึงงานศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระบบราง (MR-MAP) (MR 8 ชุมพร-ระนอง)
ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวว่า การพัฒนา MR-Map มีนโยบายสำคัญ ประกอบด้วย การใช้เขตทางที่มีอยู่อย่างเต็มที่ โดยบูรณาการมอเตอร์เวย์และทางรถไฟร่วมกัน ลดการเวนคืนพื้นที่และการแบ่งแยกชุมชน พัฒนาความเจริญไปสู่พื้นที่ใหม่ ปรับปรุงการเชื่อมต่อโครงข่าย ทั้งมอเตอร์เวย์และทางรถไฟ
เพิ่มความสะดวก คล่องตัว และความปลอดภัยสำหรับผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า โดยแยกการจราจรทางไกลออกจากการจราจรในพื้นที่ คำนึงถึงผลกระทบการเวนคืนและการแบ่งแยกชุมชนเป็นหลัก และโครงข่าย MR-Map ประกอบด้วย เส้นทางในแนวเหนือ-ใต้ จำนวน 3 เส้นทาง รวม 2,620 กิโลเมตร
สำหรับ เส้นทาง MR 8 ชุมพร-ระนอง เชื่อมการเดินทางและขนส่งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน จากผลสรุปการคัดเลือกแนวเส้นทางที่ดีที่สุด และพื้นที่อ่อนไหวจะกระทบประชาชนน้อยที่สุด เป็นแนวเส้นทางที่พัฒนาไปยังพื้นที่ใหม่
จากการรับฟังความเห็นประชาชนและหน่วยงานเกี่ยวข้องส่วนใหญ่ ชอบแนวเส้นทางโครงการและรายละเอียดการออกแบบเบื้องต้น มีจุดเริ่มต้นโครงการที่บริเวณแหลมริ่ว ต.บางนํ้าจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร จุดสิ้นสุดโครงการบริเวณอ่าวอ่าง ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง ระยะทาง 91 กิโลเมตร
ขณะที่โครงข่ายเชื่อมโยงทางถนนเชื่อมโยงท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและท่าเรือฝั่งอันดามัน ประกอบด้วย การเชื่อมโยงถนนทางหลวงสู่ท่าเรือแหลมริ่ว จ. ชุมพร การเชื่อมโยงเส้นทาง MR 8 สู่ท่าเรือแหลมริ่ว จ.ชุมพร
และการเชื่อมโยงเส้นทาง MR8 เข้าสู่ท่าเรืออ่าวอ่าง จ.ระนอง ประกอบด้วย สะพานยกระดับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองขนาด 6 ช่องจราจร (รวม 2 ทิศ ทาง) ขนานกับสะพานยกระดับทางรถไฟ สายใหม่จำนวน 3 ราง
และ Siding Track 1 ราง มีถนนบริการขนาด 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง เพื่อรองรับปริมาณรถทั้งจากทางหลวงสายหลัก และถนนชนบทที่จะเข้าสู่ท่าเรืออ่าวอ่าง
ส่วนการขุดลอกร่องน้ำ ท่าเรือระนอง ได้ของบประมาณ ปี 2566 จำนวน 400 กว่าล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ รวมทั้งการขนส่งทางน้ำตามกรอบพัฒนา การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้(SEC) เพื่อขุดลอกร่องน้ำซึ่งมีความลึก 12 ม. ห่างจากปากร่องน้ำ 10 กม. ยาว 28 กม. กว้าง 120 ม. เพื่อรองรับการขยายท่าเรือระนอง และรองรับแผนแม่บทท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ ระยะ ที่ 1 และ 2 ใน
โครงการศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งเขตประกอบการอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการประมงจังหวัดระนอง เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เสนอการจัดตั้งเขตประกอบการอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการประมงจังหวัด เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ โดยใช้พื้นที่บ้านสามแหลม ต.ปากน้ำ อ.เมืองระนอง จำนวน 415 ไร่ ซึ่งเป็นป่าชายเลน 31 ไร่และป่าไม้ 384 ไร่งบประมาณ 1,142 ล้านบาท
บุญเลื่อน พรหมประทานกุล / รายงาน