นายพรชัย ฐีระเวช โฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อนานถึง 10 เดือน เนื่องจากรอให้ สว.หมดอำนาจนั้น สำนักงบประมาณ และหน่วยงานเศรษฐกิจ ได้แก่ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะต้องมีการหารือร่วมกันอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม เดิมกระทรวงการคลังคาดการณ์ว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะมีผลต่อการจัดทำพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปีงบ 67 ล่าช้าออกไป 6 เดือน ทั้งนี้ หากการจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อจนทำให้ไม่สามารถจัดทำพ.ร.บ.งบประมาณปี 67 ตามที่เราคาดการณ์ไว้ คาดว่ายังมีเม็ดเงินหมุนเวียนลงสู่ระบบเศรษฐกิจ 2.11 ล้านล้านบาท จากงบรายจ่ายประจำ และงบรายจ่ายลงทุนผูกพัน
โดยได้มีการพิจารณาเทียบเคียงจากผลการเบิกจ่ายงบปี 66 ซึ่งปัจจุบันยอดการเบิกจ่าย 9 เดือน ของงบรายจ่ายประจำสามารถเบิกจ่ายได้แล้ว 2.08 ล้านล้านบาท ขณะที่งบรายจ่ายลงทุน ซึ่งเป็นงบรายจ่ายลงทุนผูกพัน ที่จะสามารถเบิกจ่ายได้ในช่วงที่งบปี 67 ยังไม่มีผลบังคับใช้
โดยปีงบ 67 ผูกพันไว้ที่ 1.5 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตัวเลขความสามารถในการเบิกจ่ายลงทุนงบผูกพัน ช่วง 9 เดือน ปีงบ 66 สามารถเบิกจ่ายได้แล้ว 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งมีความสามารถในการเบิกจ่ายส่วนนี้อยู่
“หากการจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อ ข้าราชการไม่ได้ใส่เกียร์ว่าง ทุกส่วนราชการทำอย่างเต็มที่เพื่อประชาชน ฉะนั้น ประเมินว่าไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจปี 66 แต่จะมีผลต่อเศรษฐกิจในปี 67 ทั้งนี้ หากการจัดตั้งล่าช้ารัฐบาลล่าช้า 6 เดือน จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 0.05% แต่หากล่าช้าออกไป 9 เดือน มีผลต่อเศรษฐกิจเพียง 0.07%”
สำหรับการหารือร่วมกันกับสำนักงบประมาณจะต้องมีการออกหลักเกณฑ์สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งเดิมมีการหารือร่วมกันโดยออกหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายในช่วง 6 เดือน ซึ่งจะต้องออกมาก่อน แต่ระหว่างทางจากนี้ไป หลังเดือนต.ค.66 หากสถานการณ์จัดตั้งรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจน หรือการใช้งบประมาณปี 67 อาจจะล่าช้าไปอีกหนึ่งไตรมาส สำนักงบประมาณก็ต้องมีการปรับปรุงเกณฑ์อีกครั้ง