นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อ และส่งผลให้การจัดทำพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 มีผลบังคับใช้ล่าช้า นานกว่า 6 เดือนนั้น กรณีหากเกิดปัญหา เช่น เกษตรกรที่อาจเผชิญกับภาวะภัยแล้งเอลนีโญ ยืนยันว่าส่วนนี้ก็ยังมีงบประมาณดูแลเกษตรกร
ทั้งนี้ จะมาจากช่องทางกองทุนหมุนเวียนต่างๆ ซึ่งมีเป้าหมายในการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มต่างๆ ในประเทศ ซึ่งจะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ ยังมีเม็ดเงินหมุนเวียนลงสู่ระบบเศรษฐกิจอีก 5 แสนล้านบาท จากงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยสนับสนุนเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ
พร้อมกันนี้ หากกฎหมายงบประมาณฉบับใหม่ ไม่สามารถประกาศใช้ทัน 1 ต.ค.66 นั้น ก็สามารถใช้งบประมาณรายจ่ายในปีก่อนหน้าไปพลางก่อนได้ รวมถึงรายจ่ายลงทุนที่ผูกพันข้ามปี ที่มีจำนวน 1.5 แสนล้านบาท ที่คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2567 ได้ ไม่เกิน 1.3 แสนล้านบาท
“การเบิกจ่ายงบลงทุนในสิ้นปีงบประมาณ 2566 คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 4.6 แสนล้านบาท คิดเป็น 74% ของงบลงทุนทั้งหมดในปีนี้ ส่วนในปีงบประมาณ 2567 คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ 4.8 แสนล้านบาท คิดเป็น 68 % ของงบลงทุนรวม”