นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ใช้แดชบอร์ดวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics Dashboard) ของเว็บไซต์ คิดค้า.com พบว่า ในปี 2565 ทั่วโลกมีการนำเข้าสินค้ากลุ่มเกษตรกรรม (กสิกรรม ปศุสัตว์ และประมง) เป็นมูลค่าสูงถึง 1.07 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น9.08 %จากปีก่อนหน้า
โดยจีน มีการนำเข้าสูงสุด เป็นมูลค่า 176,936.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.77% รองลงมา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 107,121.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เยอรมนี 60,335.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ญี่ปุ่น 55,352.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเนเธอร์แลนด์ 45,437.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ โลกมีการนำเข้าสินค้ากลุ่มเกษตรกรรมจากไทย เป็นมูลค่าสูงถึง 29,433 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น7.35% จากปีก่อนหน้า โดยไทยมีส่วนแบ่งตลาด2.74% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มเกษตรกรรมของทั้งโลก
สำหรับประเทศที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดสูง 5 อันดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย ซึ่งไทยมีส่วนแบ่งตลาด14.27%ของมูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มเกษตรกรรมของมาเลเซีย รองลงมา ได้แก่ แอฟริกาใต้ สาธารณรัฐประชาชนจีน เซเนกัล และสิงคโปร์ มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 11.78 7.21 7.08 และ 7.07 ตามลำดับ
สำหรับการนำเข้าสินค้ากลุ่มเกษตรกรรมที่สำคัญของโลก เมื่อพิจารณาจากมูลค่าการนำเข้า การเปลี่ยนแปลงมูลค่าการนำเข้า และอัตราการเติบโตเฉลี่ย 3 ปี พบว่า กลุ่มสินค้าศักยภาพที่โลกมีความต้องการนำเข้าสูง และการส่งออกของไทยมีอัตราการเติบโตสูง อันดับ 1 ได้แก่ พืชน้ำมัน รองลงมา คือ ธัญพืช และกาแฟ
ทั้งนี้ ในปี 2565 ไทยสามารถส่งออกสินค้าในกลุ่มดังกล่าว เพิ่มขึ้น 49.92% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดสินค้าพืชน้ำมันในตลาดโลก 0.05% โดยมีมาเลเซีย อินเดีย และเนเธอร์แลนด์ เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ซึ่งยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2566 และแม้ไทยจะไม่ใช่ผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก แต่ก็มีโอกาสขยายการส่งออกจากความต้องการซื้อของประเทศคู่ค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งไทยควรส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตเพื่อให้สามารถแข่งขันด้านราคา
“ปัจจัยด้านการแสวงหาความมั่นคงทางอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกระแสอาหารสุขภาพ ประกอบกับศักยภาพของไทยในการเป็นผู้ผลิตอาหารอันดับต้น ๆ ของโลก สามารถทำให้ธัญพืชเป็นสินค้าที่จะสร้างรายได้เข้าประเทศได้อย่างเป็นกอบเป็นกำต่อไปในอนาคต ซึ่งภาครัฐควรมีบทบาทสนับสนุนข้อมูลและอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ รวมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าให้กับผู้ประกอบการ ช่วยเสริมสร้างศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนา ให้การสนับสนุนด้านการเงิน ฝึกอบรมทักษะด้านการตลาด และจับคู่ธุรกิจเพื่อช่วยหาตลาดในต่างประเทศ เพื่อให้สินค้าธัญพืชและสินค้าอาหารสุขภาพของไทยมีความโดดเด่น หลากหลาย และปลอดภัยได้มาตรฐาน ตอบโจทย์ความต้องการจากตลาดโลกได้ต่อไป”