จากที่เวลานี้การเมืองไทยยังไม่มีความชัดเจน หลังหลายเรื่องหลายเหตุการณ์ที่มีความเชื่อมโยงกันต้องถูกเลื่อนออกไป
โดยเลื่อนที่หนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญเลื่อนการวินิจฉัยจะรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ยื่นคำร้องให้พิจารณาปมมติรัฐสภาห้ามเสนอชื่อนายพิธา โหวตนายกฯซ้ำ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ออกไปเป็นวันที่ 16 สิงหาคม
เลื่อนที่สอง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ได้หารือกับทีมกฎหมายและคณะทำงาน และมีมติให้เลื่อนการโหวตนายกรัฐมนตรีออกไปก่อนจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาล
เลื่อนที่สาม พรรคเพื่อไทย เลื่อนการแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาล จากก่อนหน้านี้ประกาศจะเปิดรายชื่อพรรคที่จะมาร่วมจับขั้วใหม่เพื่อจัดตั้งรัฐบาล หลังประธานรัฐสภามีคำสั่งให้เลื่อนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จากในวันที่ 4 ส.ค. ออกไปโดยไม่มีกำหนด โดยจะรอจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย หรือมีคำสั่งอย่างไรในวันที่ 16 ส.ค.นี้
เลื่อนที่สี่ ประธานรัฐสภา สั่งปิดการประชุม และเลื่อนการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์ สว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หลังที่ประชุมร่วมรัฐสภาถกเถียงประเด็นขอให้ทบทวนการเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกฯซ้ำไม่ได้
เลื่อนที่ห้า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีทวีตข้อความประกาศเลื่อนวันกลับไทย จากเดิมกำหนดไว้จะกลับไทยวันที่ 10 ส.ค.ออกไปอีกไม่เกิน 2 สัปดาห์ โดยวันเวลาจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง อ้างเหตุผลหมอเรียกให้ไปตรวจร่างกายก่อน(แต่ล่าสุดได้ไปร่วมงานวันเกิดของสมเด็จฮุนเซน ที่กัมพูชา)
ต่อทิศทางสถานการณ์การเมืองไทยที่ยังไม่มีความไม่แน่นอน และยังไม่มีความชัดเจน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ทุกเรื่องถือเป็นประเด็นสำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชน รวมถึงภาคเอกชนที่พร้อมทำงานร่วมกับทุกรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้า ซึ่งหากการจัดตั้งรัฐบาลยิ่งล่าช้ายิ่งไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศที่เวลานี้อยู่ในภาวะชะลอตัว
อย่างไรก็ดีหอการค้าฯ มองว่าการเลือกนายกรัฐมนตรี รวมถึงการจัดตั้งรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี(ครม.)ชุดใหม่ ควรจะแล้วเสร็จในระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกันยายนนี้ หากเป็นไปตามไทม์ไลน์นี้ยังเป็นช่วงเวลาที่ไม่ถือว่าช้าเกินไป โดยหวังว่าหลังจากนี้ทุกฝ่ายจะมีการหารือและทำความเข้าใจร่วมกันโดยยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อเนื่อง โดยภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลชุดใหม่คงต้องเร่งจัดทำงบประมาณประเทศ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อดึงกำลังซื้อและความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้หากพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำและจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เชื่อว่าน่าจะสามารถเร่งดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจได้ทันที เพราะพรรคเพื่อไทยเคยมีประสบการณ์ในด้านการบริหารประเทศมาก่อน และหลายนโยบายก็สามารถดำเนินการจนประสบความสำเร็จ
สำหรับเรื่องที่ภาคเอกชนห่วงมากที่สุด หากมีการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าไปจากไทม์ไลน์ นายสนั่นเผยว่า มีอย่างน้อย 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.ปัญหาปากท้องของประชาชน โดยเฉพาะนโยบายมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ หากรัฐบาลใหม่ล่าช้า จะกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนที่จะลดลง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังรอมาตรการช่วยเหลือเรื่องแหล่งเงินทุนจะได้รับผลกระทบ เพราะยังไม่มีความชัดเจนของชุดมาตรการใหม่ ๆ ที่จะออกมาช่วยเหลือ หากจัดตั้งรัฐบาลล่าช้ามาก SMEs บางรายอาจจะหยุดกิจการ หรือปรับลดการจ้างงาน ซึ่งจะกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
2.ขณะนี้ภาคเกษตรไทยยังสามารถเติบโตได้ดี แต่ปัญหาภัยแล้ง ปีนี้สัญญาณจากเอลนีโญมีความชัดเจน หากไม่มีแผนรับมืออย่างเร่งด่วนและจริงจัง จะกระทบต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร 3.การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ยังค้างท่อและการจัดงบประมาณประเทศล่าช้า แม้จะสามารถใช้งบประมาณในตัวเลขเดิมได้ แต่ประเทศต้องการฝ่ายบริหารเข้ามาการตัดสินใจและการวางมาตรการเยียวยาหรือกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ที่เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศในช่วงเวลานี้
4.ปัญหาค่าพลังงานงานสูง ต้นทุนต่าง ๆ ยังคงอยู่ระดับสูง ซึ่งส่งผลกับค่าครองชีพของประชาชน และ 5. ความชัดเจนของนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ที่แต่ละพรรคเสนอไว้หากจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า นักลงทุนต่างชาติยังคงต้องติดตามทิศทางและความชัดเจน ซึ่งจะทำให้ประเทศเสียโอกาสในการดึงดูดเม็ดเงินใหม่ ๆ เข้ามา