เอกชนระแวงเกมการเมือง ตั้งรัฐบาลสะดุดเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจพัง

05 ส.ค. 2566 | 05:12 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ส.ค. 2566 | 05:25 น.

เอกชนระแวงเล่นเกมการเมืองมากเกินไป จนทำให้การจัดตั้งรัฐบาลสะดุด มีความเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจพัง พร้อมแนะให้รัฐบาลใหม่เฟ้นหาทีมเศรษฐกิจที่เข้าใจปัญหาและหาแนวทางแก้ไขได้แบบ Quick win

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยบทความพิเศษ ตั้งรัฐบาลสะดุดเศรษฐกิจเข้าสู่โหมดเสี่ยง ว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจกับการเมืองเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์อย่างเป็นนัย โดยเศรษฐกิจของไทยขณะนี้อยู่ในสภาวะมีความอ่อนแอจากเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าหลักอยู่ในสภาวะชะลอตัว 

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการส่งออกแบบเข้มข้นเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมและภาคบริการที่อยู่ในซัพพลายเชนเป็นจำนวนมาก ทั้งอุตสาหกรรมนำเข้าเพื่อการส่งออกและภาคบริการต่าง ๆ รวมถึงภาคเกษตรกรรม ปศุสัตว์และประมง การส่งออกของไทยเจอมรสุมลูกใหญ่จากเศรษฐกิจโลก ทำให้ปีนี้อาจหดตัวประมาณ 3% ผลคือทำให้ภาคส่วนเศรษฐกิจอื่น ๆ โดยเฉพาะการจับจ่ายใช้สอยอยู่ในอาการซึม

ขณะเดียวกันการเมืองที่ยังไม่รู้ว่าจะตั้งรัฐบาลได้เมื่อใด เพราะเลื่อนกันมาหลายรอบ ล่าสุดหลังศาลรัฐธรรมนูญเลื่อนการพิจารณาเกี่ยวกับมติการโหวตนายกรัฐมนตรีได้รอบเดียวหรือได้มากกว่า อาจทำให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรี ไปจนถึงวันที่ 23 สิงหาคม 2566

แต่ขณะนี้การเมืองมีความชัดเจนเพิ่มขึ้นอีกระดับหนึ่ง โดยมีแนมโน้มการจัดตั้งรัฐบาล คงมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกฯ จะถูกเสนอชื่อโหวตเป็นนายกฯ ในครั้งถัดไป

 

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

รับไม่ได้รอตั้งรัฐบาล 10 เดือน

ในส่วนของภาคเอกชน ออกมาขานรับเห็นด้วยที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาล เพราะทางเลือกของประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาอย่างแยบยล ทำให้เกิดทางตันทางเลือกมีไม่มาก หรือแทบไม่มีทางเลือก สูตรการตั้งรัฐบาลต้องออกมาเป็นแบบนี้ เมื่อพรรคก้าวไกลไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ และการมีแนวโน้มไปเป็นฝ่ายค้านแทน 

ต้องเข้าใจว่า คะแนนเสียงการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคที่มีได้อันดับ 1 และ 2 มีคะแนนต่างกันแบบสูสี จึงไม่มีทางเลือกที่จะไปเติมข้างใดข้างหนึ่งให้เป็นเสียงข้างมากได้ ซึ่งพรรคเพื่อไทยหากต้องการเป็นรัฐบาล ต้องยอมไปเลือกจับมือกับพรรคที่ประชาชนคนส่วนใหญ่อาจจะตะขิดตะขวงใจ เนื่องจากเสียงของพรรคอันดับ 1 และ 2 ได้เสียงในสภาไม่ต่างกันมาก ส่วนกรณีที่ให้รอ 9-10 เดือนและค่อยจัดตั้งรัฐบาลนั้นคิดว่า เศรษฐกิจไทยคงรับไม่ได้

กรณีเลื่อนการประชุมสภาวาระการโหวตนายกรัฐมนตรีวันที่ 4 สิงหาคม และคาดเปิดโหวตอีกครั้งหลังวันที่ 16 สิงหาคมนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีทางเลือกเนื่องจากเป็นไปตามแถลงของศาลรัฐธรรมนูญทำให้การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไป 

ทั้งนี้การล่าช้าออกไปลึก ๆ แล้ว อาจทำให้พรรคเพื่อไทยพอใจก็ได้ เพราะจะได้มีเวลาเตรียมเจรจาดีลตั้งรัฐบาลใหม่ซึ่งขณะนี้ดูเหมือนว่ายังไม่ค่อยลงตัว

 

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

หวังรัฐบาลใหม่เฟ้นทีมเศรษฐกิจเจ๋ง ๆ

อย่างไรก็ดีสถานการณ์ช่วงนี้ ทำให้เห็นฉากทัศน์การเมืองที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นขั้วอนุรักษ์เข้มข้น หรือขั้วอนุรักษ์แบบจาง ๆ แบบเปลี่ยนได้ทุกสี คงไม่มีทางเลือกเช่นกันที่จะต้องให้การเมืองเดินหน้า โดยมีคุณเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะประชาชนต้องการให้มีรัฐบาลโดยเร็ว เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้อง รวมถึงผลกระทบจากภัยแล้งที่คาดว่าจะหนักสุดในรอบหลายทศวรรษ 

ประเด็น คือ ขอให้รัฐบาลใหม่คัดเลือก “ทีมเศรษฐกิจ” ที่เข้าใจปัญหา และหาแนวทางแก้ไขได้แบบ “Quick win” ไม่ใช่มัวแต่แย่งเค้กชิงกระทรวงที่มีงบประมาณมาก ๆ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยช่วงนี้แย่มาก โดยเฉพาะผู้ที่ทำธุรกิจทั้งรายย่อย-รายเล็ก-รายกลาง การค้าชะลอตัว หากสภาพคล่องไม่ดียิ่งไปกันใหญ่ เพราะการส่งออกหดตัวต่างประเทศไม่มีออเดอร์ ทำให้กระทบเป็นวงกว้าง

นอกจากนี้การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูป เดือนมิถุนายน 2566 หดตัวถึง 14% และภาพรวมตลอดปี 2566 หดตัวมาตลอด สะท้อนว่าอีก 2-3 เดือนข้างหน้า กำลังการผลิตจะชะลอและมีแนวโน้มลดลงด้วย 

วิตกตั้งรัฐบาลช้าจ้างงานทรุด

สิ่งที่เป็นห่วง คือ “การจ้างงาน” เพราะช่วงนี้ที่เศรษฐกิจเงียบ ๆ หลายบริษัทมีการเกษียณก่อนกำหนด (Early Retire) เพื่อต้องการลดค่าใช้จ่ายต้นทุนค่าจ้างแรงงาน หรือกรณีโรงงานยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางภาคใต้ ส่วนใหญ่ชะลอการผลิต ลดกะการทำงาน 

รวมถึงปรับลดคนงานถึงขนาดบางโรงงานต้องปิดตัว เพราะไม่มีออเดอร์จากจีน ซึ่งเศรษฐกิจออกอาการชะลอตัวจนรัฐบาลต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยลดการนำเข้าและส่งเสริมให้ท่องเที่ยวในประเทศ อาจกระทบไปถึงภาคท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคส่วนเดียวที่ยังขับเคลื่อนได้ดี แต่เม็ดเงินก็ยังไม่มากพอจะกู้เศรษฐกิจ

อีกทั้งภาคการเกษตรกรรมก็ยังมีปัญหาจากภัยแล้ง ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องการรัฐบาลโดยเร็วเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะมีมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มกำลังซื้อ

 

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2566 ข้อมูลจาก สศช.

 

เตือนสติอย่าเล่นเกมการเมืองมากเกินไป

ประการสำคัญ “อย่าเล่นเกมการเมืองมากเกินไป” ส่วนเรื่องนโยบายพรรคร่วมรัฐบาลที่ผสมหลายพรรคก็ต้องเจรจากันให้รู้เรื่อง กรณีพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นแกนตั้งรัฐบาลหรืออยู่ในซีกรัฐบาลใหม่ อาจทำให้เกิดชุมนุมทางการเมืองหรือไม่ เป็นปัญหาที่ภาคเอกชนกังวล เพราะจะยิ่งไปซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจให้หนักหนากว่าเดิม 

อย่างที่กล่าวไปว่าสถานการณ์ตอนนี้ทางเลือกไม่มีเพราะพรรคก้าวไกลกลายเป็นของร้อน ทางสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตั้งธงแล้วว่าไม่เลือกพรรคก้าวไกล ซึ่งคงไม่มีทางเลือกอื่นต้องปล่อยไป หลังจากนี้อยากให้ทุกฝ่ายออกมาชี้แจงให้ชัดเจน อย่าไปยุยงให้การเมืองลงถนนจนนำไปสู่ความรุนแรง ซึ่งเป็นผลกระทบทั้งประชาชน-เศรษฐกิจและประเทศ 

ด้านพรรคก้าวไกล ก็ต้องยอมรับในความเป็นพหุสังคมที่มีวัฒนธรรมการเป็นอยู่ที่ยาวนานรุ่นเก่ายังมีอีกมาก รวมถึงต้องยอมรับซีกที่เขายังต้องการคงรูปแบบเดิม ๆ ซึ่งสะท้อนจากคะแนนเสียงรวมกันแล้วมีไม่น้อยกว่า 70% ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงในสังคมไม่สามารถทำได้สุดโต่งหรือจะไปเปลี่ยนในทันทีไม่ได้