นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนก.ค.2566 เท่ากับ 107.82 เทียบกับมิ.ย.2566 เพิ่มขึ้น 0.01% เทียบกับเดือนก.ค.2565 เพิ่มขึ้น 0.38% แม้จะไม่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง เพราะเดือน มิ.ย.2566 อยู่ในระดับ 0.23% ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดในรอบ 22 เดือน แต่เดือนก.ค.2566 แม้ขยับขึ้นเล็กน้อย ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ
โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะสุกรและเครื่องประกอบอาหารที่ราคาปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และฐานราคาในเดือนก.ค.2565 ที่ใช้ในการคำนวณเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) เพิ่มขึ้น 2.19%
โดย "เงินเฟ้อ" เดือน ก.ค.2566 ที่สูงขึ้น 0.38% มาจากการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1.49% ชะลอตัวลงค่อนข้างมากจากเดือน มิ.ย.2566 ที่สูงขึ้น 3.37% สินค้าที่ยังคงมีราคาสูงขึ้น เช่น ผักและผลไม้สด ไข่ เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณผลผลิตมีไม่มาก ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และผลิตภัณฑ์นม
ราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต ส่วนอาหารสำเร็จรูปราคาสูงขึ้นเล็กน้อย สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง เช่น เนื้อสุกร เนื่องจากมีปริมาณออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ข้าวสารเจ้า ราคาเปลี่ยนแปลงตามโปรโมชัน เครื่องประกอบอาหาร และผักสดบางชนิด
สำหรับหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.38% ตามการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ทั้งน้ำมันในกลุ่มดีเซล แก๊สโซฮอล์ (ยกเว้น E85) และเบนซิน และยังมีสินค้าอื่น ๆ ที่ราคาลดลง เช่น เสื้อบุรุษและสตรี เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด หน้ากากอนามัย และค่าสมาชิกเคเบิลทีวี ส่วนสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ค่าของใช้ส่วนบุคคลค่าบริการส่วน ค่ายา และค่าโดยสารสาธารณะ
แนวโน้มเงินเฟ้อเดือน ส.ค.2566 ได้รับแรงกดดันจากสินค้าอาหารบางประเภทที่ยังขยายตัว จากปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตลดลง ราคาอาหารสำเร็จรูปยังอยู่ในระดับสูง ราคาน้ำมัน มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่มีความตึงเครียดมากขึ้น และฐานที่ใช้คำนวณของเดือน ส.ค.2565 ยังอยู่ในระดับสูง คาดว่าเงินเฟ้อจะยังเพิ่มขึ้นไม่มากและขยายตัวอยู่ในกรอบแคบ ๆ
ส่วนเดือนต่อ ๆ ไป จนถึงสิ้นปี ประเมินว่า "เงินเฟ้อ" จะขยายตัวต่ำกว่า 1% ทุกเดือน และเงินเฟ้อทั้งปีจะอยู่ในเป้าที่ตั้งไว้ที่ 1-2% ค่ากลาง 1.5% ภายใต้สมมติฐาน จีดีพี เพิ่ม 2.7-3.7% น้ำมันดิบดูไบ 71-81 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 33.5-35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
โดยหากปัจจัยต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลง หรือมีปัจจัยเสี่ยงที่กระทบเงินเฟ้อ ทั้งน้ำมัน ภัยแล้ง เศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เดือน ก.ย.2566 จะมีการทบทวนเป้าหมายเงินเฟ้ออีกครั้ง