นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า BCG ถือว่าเป็นเมกกะเทรนด์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ จึงได้ดำเนินโครงการเพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้า BCG ได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG อย่างชัดเจน เน้นการค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว
รวมทั้งพัฒนาศักยภาพการผลิต ต่อยอดผลิตภัณฑ์ เรียนรู้ช่องทางการตลาด ปรับตัวตามกระแสนิยมของตลาดโลก และใช้ประโยชน์จาก FTA เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดการค้าเสรี ซึ่งประเทศคู่ค้าได้ยกเว้นหรือลดภาษีนำเข้าให้กับสินค้าส่วนใหญ่จากไทยแล้ว
ดังนั้นกรมฯจึงจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching: OBM) โดยนำผู้ประกอบการกลุ่มสินค้า BCG ทั้งอาหารแปรรูป เครื่องดื่ม และสินค้าไลฟ์สไตล์ 20 ราย เจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้นำเข้าจากประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เข้าร่วมกิจกรรม OBM พร้อมทั้งได้เชิญผู้แทนจากห้างโมเดิร์นเทรดชั้นนำ อาทิ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด Top Supermarket TV Direct Big C และ Alibaba เข้าร่วมกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการอีกด้วย
โดยคาดว่าจะเกิดการจับคู่ธุรกิจกว่า 50 คู่ซึ่งกลุ่มสินค้าที่ได้รับความสนใจ และเกิดมูลค่าทางธุรกิจเช่น กล้วยป๊อบ ขิงแปรรูป น้ำหวานดอกมะพร้าวสควิซ น้ำมันมะพร้าว ผลไม้แช่เยือกแข็ง ผักแผ่นอบกรอบ ว่านหางจระเข้อบแห้ง ซอสมะม่วง สมุนไพรกระตุ้นน้ำนม กาแฟคั่ว และเครื่องดื่มผสมกระชาย โดยคาดว่ามูลค่าการสั่งซื้อสินค้ากว่า 55 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2566) ไทยส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปไปตลาดคู่ FTA มูลค่า 8,232 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4% จากปีก่อนหน้า สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร และน้ำผลไม้ ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลีใต้