นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยใช้วิสาหกิจชุมชนเป็นกลไกขับเคลื่อน การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ
โดยการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมท้องถิ่น มาช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ เกิดการกระจายรายได้ และโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างทั่วถึงภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG
และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อการพัฒนาศักยภาพของวิสาหกิจชุมชนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ก่อให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ และตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ อันจะช่วยส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับพื้นที่และเศรษฐกิจฐานรากต่อไป
โดยสนค.มีโครงการศึกษาแนวทางการยกระดับการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG” ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้คัดเลือกวิสาหกิจชุมชนเพื่อเป็นต้นแบบ 2 กลุ่ม คือวิสาหกิจชุมชนบ้านสบายใจจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นต้นแบบภาคการผลิตสินค้า
ที่มีการนำกล้วยซึ่งเป็นทรัพยากรชีวภาพในท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ รับซื้อกล้วยจากเกษตรกรในพื้นที่ นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น กล้วยแว่น กล้วยเส้น เครื่องดื่มกล้วยผง เครื่องดื่มจากหัวปลี น้ำกล้วยสกัดเข้มข้น และไซรัปกล้วย และนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรในท้องถิ่น
นอกจากนี้ ยังนำเปลือกกล้วยมาทำปุ๋ยอินทรีย์ ถือเป็นวิสาหกิจชุมชนที่ดำเนินธุรกิจภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ได้อย่างครอบคลุม และวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวตำบลแหลมสัก จังหวัดกระบี่ เป็นต้นแบบในภาคบริการ มีการนำทรัพยากร ธรรมชาติแห่งท้องทะเลอันดามัน ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมท้องถิ่น มาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ แหลมสักเป็นชุมชนที่มีวัฒนธรรมผสมผสานระหว่าง 3 ศาสนา ได้แก่ ชาวบาบ๋า (จีนฮกเกี้ยน) ชาวมุสลิม (มลายู) และชาวไทยพุทธ ทำให้เกิดวัฒนธรรมร่วมกัน ที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น นำมาจัดทำกิจกรรมและสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวในชุมชน ที่ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม นอกจากนี้ มีการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม คัดแยกขยะ มีการซื้อคาร์บอนเครดิต เพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอน และมีเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน
ทั้งนี้ BCG Model เป็นการสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทุกคน เพื่อช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนต่อไป