นายเกอร์นอท ริงลิ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย เปิดเผยว่า จากการศึกษาภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย พบว่าไทยเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่และมีศักยภาพการผลิตสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน เป็นจุดแข็งที่ตอกย้ำการเป็นฐานการผลิตพลาสติกที่สำคัญของโลก
โดยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 1.0 ล้านล้านบาท นอกจากนี้อุตสาหกรรมการผลิตยางของไทย ยางเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยผลผลิตจากอุตสาหกรรมยางแปรรูปของไทยส่วนใหญ่จะส่งออกเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตผลิตภัณฑ์ยางในต่างประเทศ โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ จีน มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และ อินเดีย
อีกทั้งยังพบว่า อุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกของไทย ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อสนับสนุนตลาดในประเทศ ขณะที่ตลาดส่งออกมีสัดส่วน 20% ของมูลค่าตลาด โดยตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ยังพบความน่าสนใจเพิ่มคือ ประเทศไทยมีจำนวนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกมากกว่า 2,800 ราย ส่วนมากเป็นผู้ประกอบการ SMEs และ อีกส่วนเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความพร้อมในการวิจัยและพัฒนาประสิทธิภาพของเม็ดพลาสติก เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลง
รวมทั้งสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ และยังเป็นอันดับสองของโลกในการผลิตพลาสติกชีวภาพ (ไบโอพลาสติก) อันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่วนนี้มีความน่าสนใจอย่างมากเพราะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับพืชเศรษฐกิจหลักอย่างอ้อย และมันสำปะหลัง และโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือบีซีจี (BCG) ได้อย่างดี
ด้านอุตสาหกรรมยางของไทย คาดว่าในปี 2566 – 2567 จะมีปริมาณการส่งออกขยายตัวเฉลี่ย 3–4 % ตามความต้องการใช้ยางแปรรูปของตลาดโลก โดยเฉพาะการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมกลุ่มยานยนต์ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงความต้องการสต๊อกยางของจีนและญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันจากคู่แข่งด้วยกันโดยเฉพาะ CLMVและจีนที่คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้นจากการเริ่มหันมาปลูกยางพาราเอง
นายเกอร์นอท กล่าวอีกว่า โมเดลเศรษฐกิจแบบ BCG ของไทยถือว่าเกิดขึ้นได้ทันกับกระแสโลก รัฐบาลไทยได้สนับสนุนประเด็นทางเศรษฐกิจนี้อย่างจริงจัง และในส่วนของผู้ดำเนินธุรกิจและผู้ผลิตในไทยก็ได้นำเอานวัตกรรมต่างๆ มาใช้เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ทั้งพลาสติกและยาง
ซึ่งนอกจากจะลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแล้วยังเป็นการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องได้มีผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง สร้างสรรค์ และสอดรับกับกระแสผู้บริโภคมาใช้ในทางธุรกิจ ตลอดจนช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับพลาสติกและยางโดยภาพรวมอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการยกระดับความสามารถของอุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมยางในประเทศไทย บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย จึงได้เตรียมจัดงาน T-PLAS 2023 ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมพลาสติกและยางของไทยสามารถเติบโตและก้าวไปสู่ระดับนานาชาติอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเสนอมุมมองความท้าทายของอุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมยาง
มุ่งเน้นไปที่การรีไซเคิลพลาสติกเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งเป้าลดและเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมถึงการรีไซเคิลพลาสติกให้ได้ 100% โดยยึดหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นสำคัญ ไปจนถึงบริการภายใต้อุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมยางอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มมูลค่า ดันประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมยางแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
"T-PLAS 2023 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-23 กันยายน 2566 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา"