ส่งแผน"รถไฟทางคู่เฟส 2 เชื่อม 50 จังหวัด" รอรัฐบาลหน้าสานต่อ

14 ส.ค. 2566 | 05:05 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ส.ค. 2566 | 05:20 น.

ส่งแผนรัฐบาลใหม่สานต่อ "โครงการรถไฟทางคู่เฟส 2" ครอบคลุมกว่า 50 จังหวัด ขณะที่โครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 5 เส้นทาง ทยอยเปิดเพิ่ม เหนือ-อีสาน-ใต้ ปีนี้

14 ส.ค.2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน  5 เส้นทาง ที่ได้เริ่มดำเนินการในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561 จะทยอยเปิดให้บริการได้ในเดือน กันยายน นี้เป็นต้นไป ซึ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ เชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์ในหลากหลายพื้นที่ ทั้งภายในและระหว่างประเทศ รวมทั้งยกระดับและอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้รวดเร็ว และแก้ปัญหาการจราจรที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้น
 

โครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 5 เส้นทาง ได้แก่

1.เส้นทางสายเหนือ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 145 กิโลเมตร มีความคืบหน้าประมาณ 80%

2.สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร เปิดใช้งานไปแล้ว 7 สถานี ในเดือน ก.ย.66 จะให้บริการเพิ่มช่วงบันไดม้า-คลองขนานจิตร, 

3.สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ระยะทาง 421 กิโลเมตร (ช่วงนครปฐม-หัวหิน, ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร) เปิดให้บริการช่วงเขาเต่า-ประจวบคีรีขันธ์แล้ว และจะทยอยเปิดให้บริการช่วงบางสะพานน้อย-ชุมพร ภายในปลายปี 2566 

นอกจากนี้ยังมีก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ 2 โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ซึ่งมีแผนก่อสร้างอยู่ระหว่างดำเนินการ 4 สัญญา

หากเส้นทางรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 5 เส้นทางแล้วเสร็จสมบูรณ์จะครอบคลุมระยะทาง 700 กิโลเมตร คาดว่าจะช่วยเพิ่มความจุของเส้นทาง รองรับขบวนรถได้มากขึ้น และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้าทางรางของประเทศ เพิ่มความเร็วในการเดินรถ และลดเวลาในการเดินทางลงเฉลี่ยอย่างน้อย 1 ชั่วโมงจากปัจจุบัน 

และรัฐบาลมีแผนการดำเนินการรถไฟทางคู่ระยะสองไว้แล้ว ซึ่งหากได้รับการขับเคลื่อนต่อจะขยายเส้นทางรถไฟทางคู่ครอบคลุมกว่า 50 จังหวัด มีเส้นทางรวมกันมากกว่า 3,000 กิโลเมตร ภายในปี 2572 จะทำให้สามารถรองรับขบวนรถได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 2 เท่าตัว สามารถทำความเร็วในการขนส่งสินค้าได้จากเดิม 29 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็น 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง และทำความเร็วในการขนส่งผู้โดยสารเพิ่มจากเดิม 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็น 100-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
         

"รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างมาก ดังเห็นได้จากผลงานที่ผ่านมาได้นำไปสู่การขยายเส้นทางรถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ ท่าเรือ สนามบิน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ การเดินทางและการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงระหว่างจังหวัด ภาค และระหว่างประเทศ ภายใต้ต้นทุนที่ลดลง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น" นางสาวรัชดา กล่าว