สหภาพยุโรป (EU) จะเริ่มทดลองใช้มาตรการปรับลดคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน(CBAM) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ในสินค้า 7 ชนิดคืออะลูมิเนียม, เหล็กและเหล็กกล้า, ปูนซีเมนต์, ปุ๋ย, ไฟฟ้า, ไฮโดรเจน และผลิตภัณฑ์ปลายน้ำอื่น ๆ เช่น น็อตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็กกล้า
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิตเปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตจะเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต ที่มุ่งเน้น ESG - สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาธิบาล ผ่านการดูแลและยกระดับกลุ่มพลังงานและขนส่ง เนื่องจากปัจจุบันประเทศ ไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 400 ล้านตันต่อปี โดยกลุ่มที่ปล่อยมากที่สุด คือ พลังงานและขนส่ง รวม 65-70% ต่อปี
ดังนั้น กรมสรรพสามิตจึงศึกษาและเตรียมโครงสร้างภาษีคาร์บอน ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับพลังงาน เพื่อเสนอรัฐบาลชุดใหม่ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างตั้งทีม เพื่อไปเจรจากับ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ของสหภาพยุโรป เพื่อให้รูปแบบการทำโครงสร้างภาษีคาร์บอนแท็กเป็นมาตรฐานสากล โดยกรมฯได้มีการหารือร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรืออบก., และกระทรวงพลังงานด้วย
สำหรับแนวทางในการดำเนินการหลักคือ การคิดอัตราภาษีรถยนต์ในอดีตนั้น คิดตามขนาดกระบอกสูบ แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็นการคิดอัตราภาษีตามการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ขณะที่ในส่วนของพลังงานนั้น แนวความคิดของกรมฯจะเป็นการคิดอัตราภาษีตามนํ้ามันที่มีการปล่อยก๊าชคาร์บอนไดซ์ออกไซด์ โดยพยายามจะใช้จากประเภทของพลังงาน เช่น ไบโอดีเซล หรือ E20 จะมีการเก็บภาษีเท่าใด ก็คำนวณตามสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์
“ผลิตภัณฑ์ คือ นํ้ามัน แล้วเราจะพิจารณาการเก็บภาษีตามปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อย ซึ่งเป็นแนวทางการจัดเก็บภาษีตามคาร์บอน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะต้องมีการใช้เกณฑ์การวัดการปล่อยคาร์บอนจากนํ้ามันประเภทต่างๆ โดยต้องหารือกับกระทรวงพลังงาน และมาตรฐานของโลกด้วย ซึ่งกรมมีแนวคิดจะควบคุมการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของนํ้ามันจากหน้าโรงกลั่น เช่น ดีเซลปล่อยเท่าไหร่ หากเกินอัตราที่กรมกำหนดก็จะเสียภาษีอีกอัตราหนึ่ง ตามที่กำหนดไว้”นายเอกนิติกล่าว
ทั้งนี้ การจัดทำตามแนวทางดังกล่าว จะต้องทำให้เป็นมาตรฐานสากล เพราะหากกรมมีการจัดทำแต่ไม่ได้มาตรฐานสากลผู้ประกอบการก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย นอกจากนี้ ในอนาคตยุโรปจะไม่ได้ดูเฉพาะสินค้านำเข้าเท่านั้น แต่ระยะต่อไปจะดูตั้งแต่การผลิตต้นนํ้า ว่ามีการใช้ไฟ วัตถุดับอย่างไร ซึ่งโลกเปลี่ยนไปเยอะมาก และกรมสรรพสามิตจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน
“การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมของยุโรปนั้น ระยะแรกจะมีการดูกระบวนการผลิตของสินค้า ระยะที่ 2 จะดูกระบวนการใช้ไฟสะอาด ซึ่งทุกอย่างถูกดิสรัปชั่นด้วยแนวโน้มสิ่งแวดล้อม และระยะที่ 3 คือซัพพลายเชน โดยอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีการให้ความสำคัญมากขึ้น และนอกจากมาตราการของ CBAM ของยุโรปแล้ว ขณะนี้อเมริกาก็จะมีการจัดทำเงื่อนไขเหล่านี้ด้วย ซึ่งหากไทยยังไม่มีการปรับตัวก็จะมีผลต่อธุรกิจ”
นายเอกนิติกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา กรมฯยังได้ยกระดับลดการปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์อีวี เพื่อลดการปล่อยก๊าชคาร์บอนจากขนส่ง อย่างไรก็ตาม อนาคตจะมีเรื่องปัญหาแบตเตอรี่ เพราะชิ้นส่วน 50-60% ของรถอีวีเป็นแบตเตอรี่ ซึ่งในระยะเวลา 5-10 ปี จะต้องมีการคำนึงถึงการกำจัดชิ้นส่วนในส่วนนี้ด้วย เพราะจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
“แม้ว่ารถอีวีจะเป็นส่วนที่จะเข้ามาช่วยลดการปล่อยก๊าชคาร์บอน แต่อนาคตจะมีเรื่องปัญหาแบตเตอรี่ที่อาจเป็นขยะ หากไม่มีการกำจัดและดูแลอย่างถูกวิธี กรมก็คำนึงถึงเรื่องดังกล่าว จึงได้มีการจัดทำโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ ซึ่งจะเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณาด้วย”
สำหรับแนวทางโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ รูปแบบ แบ่งเป็น 3 ป. ได้แก่
“โครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ไม่ใช่เฉพาะรถยนต์อย่างเดียว กรมรวมแบตเตอรี่ทุกประเภท เพราะเรื่องพลังงาน เช่น การติดตั้งโซล่าเซลล์ ซึ่งจะต้องมีแบตเตอรี่จัดเก็บ”นายเอกนิติกล่าว
สำหรับความคืบหน้าการดำเนินมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้านั้น ปีนี้กรมฯ ได้รับงบประมาณในมาตรการดังกล่าว 2,900 ล้านบาท ซึ่งคาดว่า วงเงินจะหมดสิ้นเดือนกันยายนนี้ เนื่องจากแนวโน้มการใช้รถยนต์อีวีเติบโตเร็วมาก มีการจดทะเบียนรถแล้ว 20,000 คันเติบโต 270% ภายใน 1ปี ทำให้คนไทยมีการใช้รถไฟฟ้าสูงที่สุดในอาเซียน คาดว่าในปีงบประมาณ 2567 จากแนวโน้มอัตราการเติบโตของรถอีวีจะมีการของบประมาณในการอุดหนุนมากกว่านี้
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศราฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,913 วันที่ 13 - 16 สิงหาคม พ.ศ. 2566