บิ๊กหอการค้า จี้รัฐบาลใหม่ต้องเร่งแก้ปากท้องทันที

15 ส.ค. 2566 | 06:36 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ส.ค. 2566 | 06:42 น.

ภาคเอกชนเสนอข้อเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่  แก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนอันดับแรก  ผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจยลดค่าครองชีพ ดันภาคท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาคเอกชนได้มีข้อเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่จำเป็นต้องดูแลทันทีคือการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชน และลดต้นทุนภาคเอกชนทั้งค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ที่ยังอยู่ในระดับสูง และการเผชิญกับปัญหาภาคการส่งออกที่ชะลอตัวติดลบต่อเนื่อง 8 - 9 เดือนรัฐบาลใหม่จำเป็นต้องเร่งเสริมความโดดเด่นภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายและถือเป็นช่วงไฮซีซั่นของปี

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ทั้งการอำนวยความสะดวกเรื่องการทำวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวจีนให้รวดเร็ว การเพิ่มเที่ยวบินรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงดังกล่าว รวมถึงเร่งจัดทำงบประมาณรายจ่าย 2567 ให้เกิดความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนแผนงานต่างๆ ทั่วประเทศ ตลอดจนเร่งสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนใหม่ ๆ จากต่างชาติ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจ้างงาน และเป็นผลดีต่อตัวเลขการส่งออกในอนาคต

 

“ยอมรับว่ายังคงน่ากังวล โดยเฉพาะกำลังซื้อของประชาชนที่สะท้อนจากการซื้อสินค้าคงทนตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายนมีแนวโน้มลดลง เป็นสัญญาณว่าประชาชนไม่มีรายได้และระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น สถานการณ์เช่นนี้จำเป็นต้องมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทันทีเช่นเดียวกับที่เคยทำในช่วงที่ผ่านมาเช่น โครงการคนละครึ่ง เพื่อดึงกำลังซื้อของประชาขนให้กลับมา ”

บิ๊กหอการค้า จี้รัฐบาลใหม่ต้องเร่งแก้ปากท้องทันที

ส่วนในระยะกลางต้องวางแผนและป้องกันความเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้งอย่างจริงจัง ทั้งนี้ กกร. ได้ประเมินว่าภัยแล้งน่าจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจประมาณ 5.3 หมื่นล้านบาท รัฐบาลใหม่จึงจำเป็นต้องเตรียมแผนบริหารจัดการทั้งพื้นที่และการกักเก็บน้ำที่เหมาะสม รองรับความต้องการของภาคการเกษตร ภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงปีหน้า ตลอดจนสานต่อข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศที่ไทยได้เริ่มดำเนินการกับหลายประเทศ เพื่อเร่งขยายตลาดใหม่ ๆ

 โดยเฉพาะ FTA ไทย - EU และอีกหลายฉบับ โดยเอกชนมองว่าจะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของไทยในเวทีโลกมากขึ้น  ส่วนในระยะยาว ต้องเริ่มปูพื้นฐานความรู้ความเข้าใจของทุกภาคส่วนถึงประเด็นการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เพราะรูปแบบการค้าของโลกจะเปลี่ยนไป วันนี้เห็นได้ชัดว่ามาตรฐานที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสังคมกลายเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไทยต้องเร่งปรับตัวให้ทัน โดยเฉพาะการการส่งเสริมแนวทาง BCG และ ESG ให้มีรูปแบบและมาตรฐานสากล